เรื่องที่ 5 ฆราวาสผู้เป็นคุณพ่อและคุณแม่
5.1 ประมวลกฎหมายพระศาสนจักรกล่าวถึงฆราวาสผู้เป็นคุณพ่อและคุณแม่
กฎหมายพระศาสนจักรมาตรา 226 วรรค 1 กล่าวว่า “ฆราวาสที่เจริญชีวิตในสถานภาพสมรสตามกระแสเรียกของเขามีพันธะโดยหน้าที่พิเศษการร่วมมือสร้างสรรค์ประชากรของพระเจ้า โดยทางการสมรสและชีวิตครอบครัวของตน”
นัยแห่งกฎหมายพระศาสนจักรมาตรา 226 วรรค 1 คือ
ก) การเป็นคุณพ่อและคุณแม่ด้วยรูปแบบของการสมรสคือการแสเรียก
ข) จุดหมายของการสมรสประการหนึ่ง คือ เพื่อบังเกิดและอบรมเลี้ยงดูบุตร
ค) ทั้งคุณพ่อคุณแม่ต้องยึดมั่นในคำสัญญาแห่งการสมรส คือการเป็นหนึ่งเดียวและหย่าร้างไม่ได้
กฎหมายพระศาสนจักรมาตรา 226 วรรค 2 กล่าวว่า “เนื่องจากบิดามารดาเป็นผู้ให้ชีวิตแก่บุตร พวกเขาจึงมีพันธะอันหนักยิ่งและมีสิทธิ์ในการอบรมเลี้ยงดูบุตร ดังนั้น พ่อแม่คริสตชนจึงต้องเอาใจใส่เป็นพิเศษในการให้การศึกษาแบบคริสตชนแก่บุตรตามคำสอนที่พระศาสนจักรมอบให้”
นัยแห่งกฎหมายพระศาสนจักรมาตรา 226 วรรค 2 คือ
ก) การสมรสตามกฎของธรรมชาติ กฎหมายบ้านเมืองและกฎหมายพระศาสนจักรก่อให้เกิดพันธะหรือข้อผูกมัดระหว่างชายกับหญิง
ข) ผลจากพันธะ คือการอบรมเลี้ยงดูบุตรแบบคริสตชน ให้เขาได้รับการศึกษาในโรงเรียนคาทอลิกหรือการอบรมสั่งสอนเรื่องความเชื่อและศีลธรรมโดยคุณพ่อและคุณแม่และพระศาสนจักร
ประมวลกฎหมายพระศาสนจักรที่เกี่ยวข้องกับฆราวาสผู้เป็นคุณพ่อหรือคุณแม่หรือคริสตชนที่ดำเนินชีวิตสมรสหรือคริสตชนที่ดำเนินชีวิตครอบครัว พวกเขามีหน้าที่ในการอภิบาลและแพร่ธรรมอะไร ? แพร่ธรรมกับใคร ? และอย่างไร ? เราจะศึกษาร่วมกันดังนี้
5.1.1 กฎหมายพระศาสนจักรมาตรา 774 วรรค 2 กล่าวว่า “บิดามารดามีหน้าที่มากกว่าผู้อื่นในการอบรมลูกของตนในความเชื่อและการปฏิบัติชีวิตคริสตชน ด้วยวาจาและแบบอย่าง ผู้ทำหน้าที่แทนบิดามารดาและพ่อแม่อุปถัมภ์มีหน้าที่รับผิดชอบเท่ากัน”
5.1.2 กฎหมายพระศาสนจักรมาตรา 793 วรรค 1 กล่าวว่า “บิดามารดารวมทั้งผู้ทำหน้าที่แทนพวกเขาด้วย มีพันธะและสิทธิให้การศึกษาอบรมแก่บุตรหลานของตน บิดามารดาคาทอลิกยังมีหน้าที่และสิทธิที่จะเลือกวิธีและสถาบันที่จะช่วยพวกเขา สามารถจัดให้บุตรหลานของตนได้รับการศึกษาแบบคาทอลิก ตามสภาพแวดล้อมได้อย่างดียิ่งขึ้น”
5.1.3 กฎหมายพระศาสนจักรมาตรา 793 วรรค 2 กล่าวว่า “บิดามารดายังมีสิทธิที่จะใช้ประโยชน์จากความช่วยเหลือที่รัฐต้องจัดให้ ซึ่งพวกเขามีความต้องการเพื่อจัดให้บุตรหลานได้รับการศึกษาแบบคาทอลิกด้วย”
5.1.4 กฎหมายพระศาสนจักรมาตรา 796 วรรค 1 กล่าวว่า “ในบรรดาเครื่องมือเพื่อให้การศึกษา คริสตชนพึงถือว่าโรงเรียนมีคุณค่าอย่างยิ่ง เหตุว่าโรงเรียนให้ความช่วยเหลือหลักแก่บิดามารดา ในการทำหน้าที่ให้การศึกษาแก่บุตรหลาน”
5.1.5 กฎหมายพระศาสนจักรมาตรา 796 วรรค 2 กล่าวว่า “บิดามารดาต้องร่วมมือใกล้ชิดกับครู โรงเรียน ซึ่งตนได้ฝากฝังบุตรหลานไว้ให้อบรม ส่วนบรรดาครู ในการปฏิบัติหน้าที่ของตนต้องทำงานอย่างใกล้ชิดร่วมกับบิดามารดาและรับฟังบิดามารดาเหล่า นั้นด้วยความยินดี และให้จัดตั้งสมาคมหรือการพบปะสังสรรค์กับบรรดาผู้ปกรองนักเรียนและให้ถือว่าสิ่งนี้เป็นเรื่องสำคัญอย่างยิ่ง”
5.1.6 กฎหมายพระศาสนจักรมาตรา 797 กล่าวว่า “บิดามารดาต้องมีเสรีภาพอย่างแท้จริงในการเลือกโรงเรียน ด้วยเหตุนี้ คริสตชนมีหน้าที่ต้องเอาใจใส่ให้สังคม บ้านเมืองรับรู้เสรีภาพของบิดามารดาและต้องป้องกันเสรีภาพนี้ โดยการให้ความช่วยเหลือตามหลักการกระจายความเป็นธรรม”
5.1.7 กฎหมายพระศาสนจักรมาตรา 798 กล่าวว่า “บิดามารดาต้องฝากฝังบุตรหลานไว้กับโรงเรียนที่จัดให้มีการศึกษาแบบคาทอลิก ถ้าทำเช่นนั้นไม่ได้ บิดามารดามีหน้าที่ต้องเอาใจใส่ให้บุตรหลานได้รับการศึกษาแบบคาทอลิกอย่างเหมาะสมนอกโรงเรียน”
5.1.8 กฎมายพระศาสนจักรมาตรา 835 วรรค 4 กล่าวว่า “บรรดา คริสตชนก็มีส่วนเฉพาะของตนในหน้าที่ทำให้ศักดิ์สิทธิ์โดยร่วมพิธีบูชามิสซาตามส่วนและวิธีการของตน บิดามารดามีส่วนในหน้าที่นี้ด้วย วิธีการเฉพาะของตน กล่าวคือ การเจริญชีวิตสมรสตาม จิตตารมณ์คริสตชน และจัดให้บุตรได้รับการอบรมแบบคริสตชน”
5.1.9 กฎหมายพระศาสนจักรมาตรา 1136 กล่าวว่า “บิดามารดามีหน้าที่หนักที่สุดและมีสิทธิอันดับแรกที่จะให้การเลี้ยงดูบุตรของตนในด้านร่างกาย สังคม วัฒนธรรม ศีลธรรมและศาสนาอย่างสุดกำลัง”
5.1.10 กฎหมายพระศาสนจักรมาตรา 1154 กล่าวว่า “เมื่อจัดให้คู่ชีวิตแยกกันอยู่ ต้องจัดให้บุตรได้รับการเลี้ยงดูและการศึกษาอบรมอย่างเหมาะสมเสมอ”
5.2 คำสอนของสังคายนาวาติกันที่ 2 เกี่ยวกับฆราวาสผู้เป็นบิดามารดา
5.2.1 พระสมณกฤษฎีกาว่าด้วยการแพร่ธรรมของฆราวาส(APOSTOLICAM ACTUOSITATEM) ข้อ 11 กล่าวว่า “พระผู้สร้างทรงกำหนดให้การอยู่ร่วมกันของสามีภรรยาเป็นกำเนิดและรากฐานแห่งสังคมของมนุษย์และยังทำให้เป็นรหัสธรรมสำคัญถึงพระคริสตเจ้ากับพระศาสนจักร (อฟ 5:32)เพราะเหตุนี้การแพร่ธรรมของสามีภรรยาและของครอบครัวจึงมีความสำคัญอย่างเอกอุ ทั้งสำหรับพระศาสนจักรและทั้งสำหรับสังคมบ้านเมืองด้วย
สามีภรรยาคริสตชนเป็นผู้ร่วมมือกับพระหรรษทานและเป็นผู้ประกาศยืนยันความเชื่อสำหรับกันและกัน สำหรับลูกและสมาชิกอื่นๆในครอบครัวด้วย เขาเป็นสองคนแรกที่ถ่ายทอดความเชื่อถึงลูกและเป็นผู้อบรมลูก เป็นผู้ฝึกสอนลูกด้วยวาจาและแบบฉบับให้ถือชีวิตแบบคริสตชนและแพร่ธรรม เป็นผู้ช่วยลูกเลือกกระแสเรียกอย่างฉลาดรอบคอบ และเป็นผู้ส่งเสริมกระแสเรียกนักบวชอย่างสุดความสามารถ ถ้าเห็นว่าลูกมีกระแสเรียกนั้น
สามีภรรยาต้องแสดงและพิสูจน์ด้วยชีวิตทั้งชีวิตว่า สามีภรรยามีพันธะอันศักดิ์สิทธิ์และหย่าร้างกันไม่ได้ นี่เป็นหน้าที่ของสามีภรรยาเสมอ...”
5.2.2 พระธรรมนูญว่าด้วยพระศาสนจักร (LUMEN GENTIUM) ข้อ 11 ความว่า “ที่สุดสามีภรรยาคริสตังด้วยอำนาจศักดิ์สิทธิ์แห่งศีลสมรส ซึ่งเป็นเครื่องหมาย ทั้งมีส่วนร่วมในพระอดาธัตถ์เอกภาพและความรักอันผลิตผลระหว่างพระคริสตเจ้ากับพระศาสนจักร (อฟ 5:32) สามีภรรยาคริสตังในชีวิตสมรส เขาต่างช่วยเหลือกันและกัน ช่วยกันในการสืบเผ่าพันธุ์และอบรมเลี้ยงดูเชื้อชาติของตนไปสู่ความศักดิ์สิทธิ์”
5.2.3 พระธรรมนูญว่าด้วยพระศาสนจักรในโลกปัจจุบัน (GAUDIUM ET SPES) ข้อ48 กล่าวว่า “การที่ชายหญิงสองคนร่วมชีวิตและรักกันอย่างสนิทนั้น เป็นสิ่งที่พระผู้สร้างทรงตั้งขึ้นและกำหนดให้มีกฎเกณฑ์ การนั้นเกิดขึ้นจากการที่สามีภรรยาสร้างพันธะสัญญาต่อกันหรือกล่าวอีกนัยหนึ่ง เกิดขึ้นจากความสมัครใจของแต่ละฝ่ายซึ่งจะเพิกถอนไมได้ ดังนั้น จารีตประเพณีซึ่งบัญญัติของพระเป็นเจ้าก็รับรองนั้น แม้สังคมก็เห็นว่าเกิดจากการกระทำของมนุษย์ คือการที่สามีภรรยารับและมอบตัวให้เป็นกรรมสิทธิ์ของกันและกัน พันธะศักดิ์สิทธิ์อันเพื่อประโยชน์ของสามีภรรยาของลูกและของสังคม...”
5.3 คำสอนของพระสันตะปาปาเรื่องฆราวาสผู้เป็นบิดามารดา
5.3.1 พระสมณสารเรื่องการประกาศพระวรสารในโลกปัจจุบันของสมเด็จพระ
สันตะปาปาปอลที่ 6 (EVANGELII NUNTIANDI) ข้อ 71 กล่าวว่า “ในงานแพร่ธรรมของฆราวาส จำเป็นต้องเน้นถึงอิทธิพลของครอบครัวในการประกาศพระวรสารด้วย ในประวัติศาสตร์ยุคต่างๆ ครอบครัวเคยได้รับสมญานามอันไพเราะว่า “พระศาสนจักรในบ้าน”และสภาสังคายนาวาติกันที่ 2 ว่าได้รับรองสมญานามนี้
ที่เรียกครอบครัวเป็น “พระศาสนจักรในบ้าน” เช่นนี้ หมายความว่า ครอบครัวคริสตชนทุกครอบครัวมีลักษณะต่างๆ ทุกอย่างของพระศาสนจักรทั้งพระศาสนจักร ด้วยเหตุนี้ ครอบครัวก็เช่นเดียวกันกับพระศาสนจักรควรเป็นสถานที่มีการสืบทอดพระวรสารต่อๆกันไป และจากสถานที่นี้พระวรสารจะส่องแสงแจ่มจรัสไปทั่วทุกแห่ง
ฉะนั้นในครอบครัวที่สำนึกถึงภาระหน้าที่ สมาชิกทุกคนจึงทำการประกาศพระวรสารและรับการประกาศพระวรสารด้วย บิดามารดามิใช่เพียงสอนพระ วรสารให้เข้าใจอย่างดื่มด่ำในชีวิตของลูกเท่านั้น แต่ยังจะรับการสอนพระวรสารแก่ตัวพวกเขาเองด้วย ครอบครัวแบบนี้ทำตนเป็นผู้ประกาศพระวรสารไปถึงครอบครัวอื่นๆอีกมากมายและไปถึงแวดวงที่เขาอาศัยอยู่ด้วย
แม้ครอบครัวที่เกิดจากการแต่งงานระหว่างชาวคาทอลิกกับคนถือศาสนาคริสต์นิกายอื่น ก็มีหน้าที่ต้องประกาศพระคริสตเจ้าแก่ลูกของตนด้วย เขายังมีหน้าที่อันหนักที่จะต้องสร้างความปรองดองเป็นอันหนึ่งอันเดียวให้เกิดขึ้นด้วย
5.3.2 พระสมณสารของพระสันตะปาปายอห์น ปอลที่ 2 ว่าด้วยบทบาทของครอบครัว คริสตชนในโลกปัจจุบัน (FAMILIARIS CONSORTIO) ข้อ 28 กล่าวถึงบิดามารดาผู้ร่วมมือกับความรักของพระผู้สร้างความว่า “ด้วยการสร้างชายและหญิงตามพระฉายาลักษณ์และความคล้ายคลึงกับพระองค์นั้น พระเป็นเจ้าทรงทำให้ผลงานจากฝีพระหัตถ์ของพระองค์สำเร็จ และบรรลุถึงจุดหมายที่สมบูรณ์ พระองค์ทรงเรียกเขาให้มีส่วนร่วมเป็นพิเศษในความรักและฤทธานุภาพของพระองค์ในฐานะที่พระองค์ทรงเป็นพระผู้สร้างและเป็นพระบิดา โดยการที่ชายหญิงร่วมมือกับพระองค์ในการมอบพระคุณของชีวิตมนุษย์ให้สืบทอดต่อไปด้วย ใจอิสระและจิตสำนึกรับผิดชอบ “พระเป็นเจ้าอวยพรแก่เขา และตรัสว่าจงเจริญพันธุ์และเพิ่มทวีจำนวนคนขึ้น จงแพร่ทั่วแผ่นดินและยึดครองโลกไว้เถิด”