บ้านพระหฤทัย – SS. CORDIS JESU สมุทรสงคราม
บ้านพระหฤทัย –
SS. CORDIS JESU สมุทรสงคราม

          ปัจจุบันสถานที่แห่งนี้เป็น “อนุสรณ์สถานบ้านเณรพระหฤทัย บางช้าง และบ้านเณรแม่พระนิรมล บางนกแขวก”

ในปี ค.ศ. 1869 สมัยของพระสังฆราชแฟร์ดินังด์ โยเซฟ ดือปองด์ ดำรงตำแหน่งประมุขมิสซังสยาม ขณะนั้นบ้านเณรของมิสซังตั้งอยู่ที่บริเวณวัดอัสสัมชัญ และมีคุณพ่อฌอง หลุยส์ เวย์ เป็นอธิการ ด้วยเหตุผลถึงความเหมาะสมเรื่องสถานที่และความสงบสำหรับบรรดาเณร จึงได้มีการเลือกเฟ้นสถานที่ตั้งบ้านเณรแห่งใหม่ ซึ่งได้ บทสรุปที่ “บางช้่าง” บนที่ดินฝั่งตรงข้ามกับวัดแม่พระบังเกิด บางนกแขวกตามที่คุณพ่ออัลเฟรด์ พรือดอม ราบาร์แดล เจ้าอาวาสวัดดังกล่าวได้เสนอให้ โดยใน ค.ศ. 1871 คุณพ่อราบาร์แดลได้เริ่มทำการสร้างบ้านเณรหลังใหม่ ซึ่งคุณพ่อเรอเน แปร์โรซ์ เป็นผู้ออกแบบตัวอาคารมีลักษณะเป็นอาคารไม้ 2 ชั้น

          ใน ค.ศ. 1872 สามเณรของมิสซังได้ย้ายออกจากบ้านเณรที่อัสสัมชัญเพื่อเข้ามาอยู่บ้านเณรแห่งใหม่ที่ “บางช้าง” โดยบ้านเณรแห่งนี้มีชื่อว่า “บ้านเณรพระหฤทัย” พระสังฆราชดือปองด์ได้เสกบ้านเณรแห่งนี้ในวันที่ 1 พฤษภาคม ค.ศ. 1872

          ใน ค.ศ. 1880 พระสังฆราชฌอง หลุยส์ เวย์ ได้ทำพิธีบวชพระสงฆ์ใหม่ที่บ้านเณรแห่งนี้ ผู้รับการบวชคือ “คุณพ่อยอแซฟ พริ้ง” ซึ่งเป็นหลานของสมภาร ปาน (ผู้ก่อตั้งกลุ่มคริสตชนวัดเพลง) โดยพระสังฆราชได้เขียนถึงเหตุการณ์นี้ลงในรายงานมิสซังสยามปี 1880 ว่า “ข้าพเจ้ามีความยินดีเป็นอย่างมากที่ได้มีโอกาสบวชสงฆ์ใหม่ที่เป็นคนไทย เพราะทั้ง ๆ ที่ความกระตือรือร้นและความมั่นคงของผู้ที่ทำงานมาก่อนเรา ก็ยังไม่มีชาวสยามคนใดก้าวขึ้นมาถึงพระแท่นนี้ในฐานะสงฆ์”

          ใน ค.ศ. 1893 พระสังฆราชหลุยส์ เวย์ ได้จัดสรรพระสงฆ์ช่วยทำงานในบ้านเณรมากขึ้น เพื่อจะได้พัฒนาคุณภาพชีวิตของสามเณรอย่างรอบด้าน พระสังฆราชได้แต่งตั้ง “คุณพ่อมาริอุส ฮังรี่ แบร์นาร์ต” เป็นอธิการบ้านเณร โดยมีคุณพ่อกูอินาร์ด คุณพ่อบูล คุณพ่อแปร์รอส และคุณพ่อมาตราต์ เป็นผู้ช่วยในการสอนและปกครองดูแลสามเณรแต่ละช่วงชั้น

          อาคารบ้านเณรซึ่งสร้างด้วยไม้ในสมัยของคุณพ่อราบาร์แดลเริ่มทรุดโทรมลง และไม่เพียงพอต่อความต้องการ พระสังฆราชหลุยส์ เวย์ จึงสนใจที่จะปรับปรุงบ้านเณรให้ดียิ่งขึ้น คุณพ่อแบร์นาร์ต จึงได้จัดทำแบบแปลนบ้านเณรหลังใหม่นำเสนอต่อพระสังฆราช และได้รับการอนุมัติให้ดำเนินการก่อสร้างได้ อาคารบ้านเณรหลังใหม่มีลักษณะเป็นอาคารก่ออิฐถือปูน 2 ชั้น จำนวน 2 อาคารเชื่อมต่อกัน โดยมีอาคารหลักขนานกับแม่น้ำแม่กลอง

          คุณพ่อแบร์นาร์ต ได้ก่อสร้างจนส่วนแรกของบ้านเณรหลังใหม่นี้สามารถเริ่มใช้งานได้ใน ค.ศ. 1901 และค่อย ๆ เป็นรูปเป็นร่างตามแบบที่คุณพ่อตั้งใจไว้ แต่เนื่องด้วยในปีนี้คุณพ่อได้รับหน้าที่ให้ไปเป็นอาจารย์สอนที่บ้านเณรของคณะมิสซังต่างประเทศแห่งกรุงปารีส (M.E.P.) ซึ่งเป็นคณะต้นสังกัดของคุณพ่อ ดังนั้นคุณพ่อจึงต้องเดินทางกลับไปยังคณะที่ประเทศฝรั่งเศส พระสังฆราชจึงได้มอบหมายหน้าที่อธิการให้แก่ “คุณพ่อมาตราต์” ซึ่งท่านได้ดำเนินการสร้างบ้านเณรหลังนี้จนสำเร็จ

          เดือนมิถุนายน ค.ศ. 1906 ในวันฉลองพระหฤทัยศักดิ์สิทธิ์ องค์อุปถัมภ์บ้านเณร มีการเสกวัดใหม่และอาคารทั้งหมด โดยมี คุณพ่ออาลอยส์ อัลฟองส์ ด็อนต์ เป็นประธาน พิธีที่สง่ามากนี้มีคริสตังมาร่วมพิธีประมาณ 300 คน

          อาคารทั้ง 2 หลังถูกใช้งานเป็นบ้านเณรอย่างแท้จริง กล่าวคือ มีวัดเป็นศูนย์รวมใจของคนทั้งบ้าน มีห้องนอน ห้องเรียน ห้องอาหาร ฯลฯ อย่างครบครัน

          ในวันที่ 30 มิถุนายน ค.ศ. 1930 พระสันตะปาปาปีโอที่ 11 โดยทางสมณกระทรวงเผยแพร่ความเชื่อ ได้ทรงตั้ง มิสซังราชบุรีเป็นมิสซังอิสระ (Mission Sui Iuris of Rajaburi) แยกออกจากมิสซังกรุงเทพฯ มีพื้นที่ปกครองในจังหวัดราชบุรี สมุทรสงคราม กาญจนบุรี เพชรบุรี ลงไปตลอดภาคใต้ทั้งหมด และได้มอบมิสซังใหม่นี้ให้คณะซาเลเซียนดูแลโดยแต่งตั้ง คุณพ่อกาเยตาโน ปาซอตตี เป็นผู้ปกครองมิสซัง และในปีนี้เองคุณพ่อปาซอตตีได้ตั้งบ้านเณรของมิสซังราชบุรีขึ้นมาต่างหากโดยได้ซื้อบ้านของสัตบุรุษที่ตั้งอยู่ริมแม่น้ำแม่กลองบริเวณหน้าวัดมาทำเป็นบ้านเณรโดยใช้ชื่อว่า บ้านเณรแม่พระนิรมล (นฤมลทิน) ในปีแรกนี้มีสามเณรทั้งหมด 8 คน

          เนื่องด้วยบ้านเณรพระหฤทัย บางช้างอยู่นอกเขตปกครองของมิสซังกรุงเทพฯพระสังฆราชมารีย์ โยเซฟ เรอเน แปร์รอสจึงดำริที่จะย้ายบ้านเณรกลับไปตั้งอยู่ในพื้นที่ของมิสซัง ในที่สุดจึงได้เลือกที่จะไปสร้างบ้านเณรใหม่ที่ศรีราชา ในวันที่ 24 ธันวาคม ค.ศ. 1934 สามเณรของมิสซังกรุงเทพฯ ได้ออกจากบ้านเณรพระหฤทัย บางช้าง เพื่อไปอยู่บ้านเณรใหม่ที่ศรีราชา

          วันที่ 17 พฤษภาคม ค.ศ. 1935 บรรดาเณรซาเลเซียนได้ข้ามฝั่งจากวัดบางนกแขวกมาอยู่ที่บ้านเณรบางช้างแทน และเปลี่ยนชื่อเรียกเป็น “บ้านเณรบางนกแขวก” ไม่เรียกว่าบ้านเณรบางช้างอีกแล้ว สามเณรของคณะซาเลเซียนจึงเป็นเณรพวกที่ 2 ที่ได้มาอาศัยและรับการฝึกฝนอบรมที่บ้านเณรแห่งนี้ เป็นระยะเวลาประมาณ 6 ปี

          ต่อมาใน ค.ศ. 1941 สามเณรมิสซังราชบุรี ซึ่งอาศัยอยู่ที่ฝั่งวัดแม่พระบังเกิดก็ได้ย้ายข้ามแม่น้ำแม่กลองมาอยู่ที่บ้านเณรหลังนี้ต่อจากสามเณรคณะซาเลเซียน โดยยังคงใช้ชื่อว่าบ้านเณรแม่พระนิรมล บางนกแขวก ในปีนี้เป็นปีที่ต้องบันทึกลงในประวัติศาสตร์ เพราะมีเหตุการณ์สำคัญ ๆ อยู่หลายเหตุการณ์ที่เป็นผลมาจากข้อพิพาทอินโดจีน มีการกีดกันการปฏิบัติศาสนาของคาทอลิก วัดหลายแห่งถูกสั่งให้ปิด บ้านเณรทั้งที่ศรีราชาและทางภาคอีสานก็ถูกเบียดเบียนจนต้องปิดบ้านเณรไว้ชั่วคราว

          เมื่อพระสงฆ์ชาวฝรั่งเศสโดนควบคุมและไม่สามารถออกไปทำงานได้ คุณพ่อกาเยตาโน ปาซอตตี (สังฆรักษ์มิสซังราชบุรี) จึงได้รับการแต่งตั้งและอภิเษกเป็นพระสังฆราช ที่อารามคาร์แมล กรุงเทพ ฯ โดยพระสังฆราชแปร์รอส เป็นผู้อภิเษกให้ เนื่องด้วยพระคุณเจ้าปาซอตตี เป็นชาวอิตาเลียนมิใช่ฝรั่งเศส ท่านจึงได้รับหน้าที่ให้เป็นผู้ดูแลมิสซังต่าง ๆ ในประเทศไทยใน ช่วงเวลาคับขันเช่นนี้ ดังนั้นงานหนึ่งที่สำคัญเป็นอันดับแรก ๆ ของท่านคือ การรวบรวมบรรดาสามเณรจากบ้านเณรต่าง ๆ ที่ประสบปัญหาในสถานการณ์เช่นนี้ให้มารวมกันที่บ้านเณรบางนกแขวกเสียก่อน

          พระสังฆราชกาเยตาโน ปาซอตตี ได้เห็นว่าอาคารบ้านเณรหลังนี้ใช้งานมานานประกอบกับขณะนี้มีสามเณรที่มาจากที่ต่าง ๆ ทั้งสามเณรพื้นเมืองมิสซังราชบุรี มิสซังกรุงเทพฯและจากภาคอีสานมาอยู่รวมกันเป็นจำนวนมากเนื่องมาจากภัยสงคราม ท่านจึงให้ดำเนินการบูรณะซ่อมแซมให้เหมาะสมกับการใช้งานโดยมีการปรับปรุงพื้นให้สูงขึ้น ทำประตู หน้าต่างใหม่ ซ่อมกำแพงอาคาร และทาสีใหม่ให้น่าอยู่ มีคุณพ่อยอบ การ์นีนี เป็นอธิการบ้านเณร

          ภัยจากสงครามโลกครั้งที่ 2 ทำให้เณรต้องประหยัดทั้งอาหารการกินและของใช้สอย สงครามกินระยะเวลานานหลายปี ทำให้เณรต้องยากลำบาก บางค่ำคืนก็ต้องวิ่งหนีหาที่หลบภัยจากลูกระเบิด แต่สุดท้ายทุกคนก็ปลอดภัย

          ใน ค.ศ. 1955 พระสังฆราชเปโตร คาเร็ตโต ได้เริ่มย้ายสำนักงานพระสังฆราชมาประจำที่อำเภอเมืองราชบุรี เพื่ออำนวยความสะดวกในการติดต่อกับวัดต่าง ๆ

          ใน ค.ศ. 1956 เริ่มมีการสร้าง ศูนย์ของมิสซังราชบุรี เป็นอาคารคอนกรีตเสริมเหล็ก 3 ชั้น แบ่งเป็น 3 ส่วน คือ โรงเรียนดรุณาราชบุรี สำนักพระสังฆราช และสามเณราลัยแม่พระนิรมล โดยมีการวางศิลาฤกษ์ วันที่ 25 กุมภาพันธ์ ค.ศ. 1956 อาคารส่วนของบ้านเณรก่อสร้างเสร็จและเสกในวันที่ 9 มีนาคม ค.ศ. 1959 ในปีเดียวกันนี้ คุณพ่อซิลวีโอ โปรเวรา ได้นำบรรดาสามเณรที่อยู่บางนกแขวกย้ายข้าวของทุกอย่างจากบ้านเณรบางนกแขวกมาอยู่บ้านเณรแห่งใหม่ที่ราชบุรีจนถึงปัจจุบัน และนับตั้งแต่นั้นมาอาคารบ้านเณรบางนกแขวกก็กลายเป็นตึกร้างไร้คนอาศัย และในเวลาต่อมาก็ได้ถูกรื้อถอนออกไป

          หลังจากที่พื้นที่ของบ้านเณรบางช้าง-บางนกแขวก ถูกทิ้งร้างไว้เป็นเวลานานหลายสิบปี ในปี ค.ศ. 2020 สำนักงานสังฆมณฑลราชบุรีได้เริ่มทำการศึกษารายละเอียดและรวบรวมข้อมูลบ้านเณรบางช้าง-บางนกแขวก โดยออกไปสัมภาษณ์บรรดาศิษย์เก่าที่เคยอาศัยอยู่ในบ้านเณรหลังนี้ รวมถึงได้สัมภาษณ์ อาจารย์พิบูลย์ ยงค์กมล ศิษย์เก่าบ้านเณรแม่พระนิรมล บางนกแขวกด้วย ท่านมีความรักความผูกพันกับบ้านเณรแม่พระนิรมล บางนกแขวกเป็นอย่างมาก และปรารถนาที่จะให้มีการฟื้นฟูอาคารบ้านเณรหลังนี้ขึ้นมาใหม่จนกระทั่งวันที่ 30 พฤศจิกายน ค.ศ. 2020 หลังจากที่ท่านได้เดินทางมาเยี่ยมพระสงฆ์อาวุโสที่ศูนย์สังฆมณฑลราชบุรี ท่านได้ไปตรวจดูพื้นที่ของบ้านเณรบางช้าง-บางนกแขวก ซึ่งในครั้งนี้ ท่านได้แสดงเจตนาที่จะสนับสนุนการก่อสร้างอาคารขึ้นมาใหม่บนพื้นที่เดิมของบ้านเณรหลังนี้

          วันที่ 8 ธันวาคม ค.ศ. 2020 สังฆมณฑลราชบุรี ได้อนุมัติให้ดำเนินการก่อสร้างอาคารบนพื้นที่ของบ้านเณรแห่งนี้ โดยให้มีลักษณะคล้ายคลึงกับอาคารของบ้านเณรหลังเดิม เพื่อเป็นอนุสรณ์สถานและแหล่งศึกษาเรียนรู้ทางประวัติศาสตร์ของบ้านเณรบางช้าง-บางนกแขวก อีกทั้งยังมีวัตถุประสงค์เพื่อใช้เป็นศูนย์อบรมบุคลากรของสังฆมณฑลอีกด้วย

การดำเนินการก่อสร้างอนุสรณ์สถานและศูนย์อบรมแห่งนี้ได้รับการสนับสนุนจากอาจารย์พิบูลย์ ด้วยความทุ่มเทและเอาใจใส่เป็นอย่างยิ่ง ท่านมักจะเดินทางมาคุมงานก่อสร้างด้วยตัวท่านเองอยู่บ่อย ๆ ท่านเอาใจใส่ในรายละเอียดต่าง ๆ ตั้งแต่การถมที่ดิน ลงเสาเข็ม งานโครงสร้าง การทำรั้ว ซุ้มประตูทางเข้า ไปจนถึงรายละเอียดเล็ก ๆ เช่น บัวปูนที่ติดตั้งตามส่วนต่าง ๆ ของอาคาร ก็ต้องมีการปรับขนาดของบัวปูนอยู่หลายครั้ง หรือแม้แต่สีของอาคาร ท่านก็เป็นผู้พินิจพิเคราะห์และเลือกด้วยความตั้งใจ นอกจากนี้ท่านยังได้ซื้อที่ดินคืนมาได้อีกจำนวน 3 งาน 72 ตารางวา และได้สร้างอาคารประกอบการเพิ่มขึ้นอีก 1 หลัง

          ด้วยความอาลัยอย่างสุดซึ้ง ในวันที่ 5 พฤษภาคม ค.ศ. 2021 พระเจ้าได้รับอาจารย์พิบูลย์ ไปพักผ่อนตลอดนิรันดรกับพระองค์ ส่งผลให้การดำเนินงานก่อสร้างซึ่งใกล้จะสำเร็จแล้วนั้นได้หยุดชะงักลง แต่ต่อมาทางครอบครัวยงค์กมล และสังฆมณฑลราชบุรีก็ได้ดำเนินการต่อจนสำเร็จ อนุสรณ์สถานและศูนย์อบรมแห่งนี้ได้รับการตั้งชื่อว่า “บ้านพระหฤทัย” มีพิธีเปิด-เสกในวันอาทิตย์ที่ 19 ธันวาคม ค.ศ. 2021 เวลา 9.00 น. โดย

พระคาร์ดินัลไมเกิ้ล มีชัย กิจบุญชู เป็นประธานในพิธี

          แม้ว่าอาคารเดิมของบ้านเณรบางช้าง-บางนกแขวกส่วนใหญ่จะถูกรื้อถอนออกไป

จนเกือบหมดนานมาแล้ว แต่ส่วนฐานของวัดน้อยประจำบ้านเณรแห่งนี้ยังคงอยู่ นับได้ว่าเป็นร่องรอยทางประวัติศาสตร์ชั้นดีที่มีคุณค่าต่อพระศาสนจักรคาทอลิกในประเทศไทย ควรค่าแก่การอนุรักษ์ไว้สำหรับชนรุ่นหลัง

          ค.ศ. 2022 ทางฝ่ายสำนักงานสังฆมณฑลราชบุรี ได้ทำการศึกษาถึงแนวทางการอนุรักษ์วัดเก่าของบ้านเณรบางช้าง-บางนกแขวก จึงได้เลือกแนวทางของการสร้างอาคารคลุมฐานวัดหลังเก่า โดยจะเก็บรักษาซากอาคารเดิมของวัดไว้ให้มากที่สุดเท่าที่จะทำได้ เมื่อได้ทำการออกแบบอาคารเสร็จแล้ว ทางฝ่ายสำนักงานสังฆมณฑลจึงได้นำเสนอโครงการต่อคณะกรรมการบริหารสังฆมณฑล

          วันที่ 11 เมษายน ค.ศ. 2023 คณะกรรมการบริหารสังฆมณฑลราชบุรีได้อนุมัติโครงการก่อสร้างอาคารอนุรักษ์วัดพระหฤทัย วันที่ 9 พฤศจิกายน ค.ศ. 2023 ได้มีการลงนามทำสัญญาการก่อสร้างอาคาร โดยเป็นอาคารชั้นเดียว มีความกว้าง 18.80 เมตร ความยาว 29.80 เมตร และความสูง 14.20 เมตร

ในวันที่ 22 มกราคม ค.ศ. 2024 ได้เริ่มทำการเจาะเสาเข็มต้นแรก 

          วันที่ 25 มีนาคม ค.ศ. 2024 เวลา 9.39 น. พระสังฆราชซิลวีโอ สิริพงษ์ จรัสศรี  ได้ประกอบวจนพิธีกรรมเสกเสาเอก โดยมีบรรดาพระสงฆ์และคริสตชนมาร่วมในพิธีนี้

งานก่อสร้างอาคารอนุรักษ์วัดพระหฤทัยได้ดำเนินการไปตามแผนอย่างต่อเนื่องจนสำเร็จ โดยมีพิธีบูชาขอบพระคุณพระเจ้าโอกาส เปิด-เสกอาคาร และฉลองบ้านพระหฤทัยในวันอาทิตย์ที่ 15 ธันวาคม ค.ศ. 2024 โดยมีพระคาร์ดินัลไมเกิ้ล มีชัย  กิจบุญชู เป็นประธาน ร่วมด้วยพระสังฆราชซิลวีโอ สิริพงษ์  จรัสศรี และพระสังฆราชเปาโล ไตรรงค์ มุลตรี พร้อมด้วยพระสงฆ์ นักบวชชายหญิง และสัตบุรุษจำนวนมาก

          อาคารอนุรักษ์วัดพระหฤทัยแห่งนี้ นอกจากจะเป็นสถานที่ศึกษาเรียนรู้ประวัติศาสตร์

ของบ้านเณรแล้ว อาคารหลังนี้จะถูกใช้สำหรับการอธิษฐานภาวนาและถวายคารวกิจแด่พระเจ้า ดังที่เคยเป็นมาในอดีตที่บรรดาสามเณรได้ใช้ในการภาวนาสรรเสริญพระเจ้าและประกอบพิธีกรรมต่าง ๆ

          ปัจจุบัน มีคุณพ่อชิตพล  แซ่โล้ว เป็นอธิการบ้าน

          ตั้งอยู่เลขที่ 1 หมู่ 6 ตำบลบางยี่รงค์ อำเภอบางคนที จังหวัดสมุทรสงคราม