UT UNUM SINT : เพื่อทุกคนเป็นหนึ่งเดียวกัน

“ลูกแกะของพระเจ้า” ข่าวดีสัปดาห์ที่ 2 เทศกาลธรรมดา (A)
“ลูกแกะของพระเจ้า”
ข่าวดีสัปดาห์ที่ 2 เทศกาลธรรมดา (A)
วันอาทิตย์ที่ 15 มกราคม 2023

ก. ความสำคัญ
           1. ขอต้อนรับกลับเข้าสู่เทศกาลธรรมดาช่วงเวลาที่ยาวที่สุดของพิธีกรรมของพระศาสนจักร หลังจากที่เราฉลองเทศกาลพิเศษ (มหาพรต เตรียมรับเสด็จฯ) เทศกาลธรรมดาเป็นช่วงเวลาได้มีโอกาสไตร่ตรองเรื่องราวต่าง ๆ ในชีวิตของพระเยซูเจ้า คำเทศน์สอน เรื่องเปรียบเทียบ อัศจรรย์ต่าง ๆ อุปสรรคและความสำเร็จในแต่ละวัน

           2. คำสำคัญของบทอ่านในวันนี้คือ “ลูกแกะของพระเจ้า” ซึ่งท้าทายเราให้ดำเนินชีวิตเฉกเช่นลูกแกะของพระเจ้าและยอมตายเช่นเดียวกับลูกแกะของพระเจ้า

ข.พระคัมภีร์และคำสอน
           1.บทอ่านที่หนึ่ง (อสย. 49:3,5-6) ทั้งบทอ่านที่หนึ่งและสอง เผยแสดงให้เห็นว่าพระเจ้าทรงเรียกเราแต่ละคนให้มารับใช้พระองค์ในพันธกิจที่ทรงมอบหมายให้ บทอ่านที่หนึ่งจากประกาศกอิสยาห์ที่ว่าด้วยเรื่อง “บทเพลงของผู้รับใช้ที่ทนทุกข์” (Songs of the Suffering Servant) เป็นการทำนายล่วงหน้าถึงชีวิตของพระเยซูเจ้าเองที่ทรงเป็นดุจลูกแกะที่ถูกนำไปบูชายัญและพันธกิจของพระองค์ในฐานะที่เป็นผู้ไถ่บาปของโลก (รับโทษแทนความผิดบาปของมนุษย์ทั้งโลก)

            2.บทอ่านที่สอง (1คร. 1:1-3) นักบุญเปาโลเตือนชาวคริสตชนเมืองโครินธ์ว่าพวกเขาได้รับเรียกให้เป็น “อัครสาวกและผู้ที่ได้รับความศักดิ์สิทธิ์” เช่นเดียวกับทุกคนที่เรียกหาหรือออกพระนามของพระเยซู ในฐานะที่เราเป็นผู้ที่มีความเชื่อ เรากลับกลายเป็นสมาชิกส่วนหนึ่งในพระกายทิพย์ของพระเยซูเจ้าโดยผ่านทางศีลล้างบาป และเราได้รับความศักดิ์สิทธิ์เหมือนพระเยซูคริสต์ก็เพราะชีวิตของพระองค์ศักดิ์สิทธิ์และช่วยเหลือผู้อื่น

            3.พระวรสาร (ยน. 1:29-34) วันนี้เราได้รับรู้ว่า ยอห์น ผู้ทำพิธีล้างเป็นคนแรกที่เรียกพระเยซูเจ้าว่าเป็น “ลูกแกะของพระเจ้า” และท่านยังเป็นพยานยืนยันว่าพระเยซูเจ้าทรงเป็นพระบุตรของพระเจ้า ชาวยิวคุ้นเคยกับคำว่าลูกแกะหรือสัตว์ที่ใช้เพื่อเป็นเครื่องบูชาหรือใช้เลือดเพื่อประพรมชำระให้บริสุทธิ์พ้นมลทิน ยังมีพิธีกรรมอื่น ๆ เช่น การสารภาพบาปความผิดใส่หัวของแกะหรือแพะ ให้แกะหรือแพะนั้นแบกความชั่วร้ายไว้แทนมนุษย์ หรือชดใช้บาปแทนมนุษย์ (เลวีนิติ 16:20-22) ชาวยิวยังใช้แกะเป็นเครื่องบูชาประจำวัน (อพยพ 29:38-42) ใช้แกะเพื่อเป็นลูกแกะปัสกา (อพยพ 12:11…) ประกาศกเยเรมีย์เปรียบตนเองเป็นเหมือนลูกแกะว่าง่ายซึ่งถูกนำไปฆ่า (เยเรมีย์ 11:19) จากความหมายของลูกแกะที่ชาวยิวคุ้นเคยเหล่านี้ เราอาจจะเลือกเอาความหมายของลูกแกะตามที่ยอห์น ผู้ทำพิธีล้างได้เรียก โดยมีความหมายอื่น ๆ ช่วยให้เราเข้าใจความหมายของลูกแกะของพระเจ้ามากยิ่งขึ้น

    
ค.ปฏิบัติ
           1. “มีชีวิตอยู่และตาย” เหมือนลูกแกะของพระเจ้า
               (ก) มีชีวิตเหมือนลูกแกะพระเจ้าโดย 1) มีชีวิตที่บริสุทธิ์ โปร่งใส สุภาพถ่อมตน ไม่เห็นแก่ตัว ปฏิบัติตามพระบัญญัติแห่งความรักของพระเยซูเจ้า 2) รักและช่วยเหลือกิจการต่าง ๆ ของวัด เป็นสมาชิกที่ดีของวัด ช่วยเหลือคุณพ่อเจ้าวัด 3) มาร่วมมิสซาและรับศีลมหาสนิททุกวันอาทิตย์
               (ข) ตายเหมือนลูกแกะของพระเจ้า โดย 1) ใช้พระพร ความสามารถ ทรัพย์สิน ช่วยเหลือครอบครัว วัด และชุมชน 2) เป็นประจักษ์พยานถึงความรักของพระเจ้าในยามที่เจ็บไข้ได้ป่วยหรือต้องทนทุกข์ยากลำบากต่าง ๆ 3) พลีกรรม ถวายความยากลำบาก เพื่อเป็นบุญกุศลแก่วิญญาณของคนอื่น

           2. “ตามมาดูซิ” (Come and see) แก่นแท้ของการเป็นประจักษ์พยานก็คือการยืนยันด้วยการทำให้เห็นด้วยตา แล้วคนอื่นจึงจะเชื่อ เมื่อเราไปกินอาหารที่ร้านไหน ตัดผม เสริมสวย หรือไปเที่ยวไหน แล้วเรา ชอบเราก็อยากบอกหรือเชิญชวนคนอื่นให้ไปรับประสบการณ์ดี ๆ เช่นเดียวกับเรา เช่นเดียวกัน เมื่อเรามีประสบการณ์ที่ดีกับพระเจ้า จึงขอให้เราได้เชิญชวนให้เพื่อนบ้านของเรา “ตามมาดูซิ” ว่าชีวิตการเป็นศิษย์พระคริสต์นั้นมีความสุขเช่นไร

คาทอลิกไทย "รวมพลังรักษ์โลก" ค.ศ.2024-2025

คาทอลิกไทยรวมพลังรักษ์โลก ค.ศ.2024-2025

สารสังฆมณฑลราชบุรี

สารสังฆมณฑลราชบุรี ปีที่ 37 ฉบับที่ 3 เดือนมกราคม-เมษายน 2024

การปกป้องคุ้มครองนักเรียนฯ

นโยบายและแนวปฏิบัติในการปกป้องคุ้มครองนักเรียน โรงเรียน/สถานศึกษาสังกัดสังฆมณฑลราชบุรี

สถานที่อบรม-สัมมนา

ศูนย์ภาวนา"ทาบอร์" จ.กาญจนบุรี
บ้าน"เย็นเนซาเร็ธ" จ.เพชรบุรี
ค่ายลูกเสือดรุณาเฉลิมพระเกียรติบ้านพระหฤทัย บางนกแขวก