UT UNUM SINT : เพื่อทุกคนเป็นหนึ่งเดียวกัน

"ใจที่เร่าร้อนเป็นไฟ เท้าต้องก้าวเดินไป" ข่าวดีวันอาทิตย์แพร่ธรรมสากล
"ใจที่เร่าร้อนเป็นไฟ เท้าต้องก้าวเดินไป"

ข่าวดีวันอาทิตย์แพร่ธรรมสากล
วันอาทิตย์ที่ 22 ตุลาคม 2023

ก.ความสำคัญ
          1.วันอาทิตย์แพร่ธรรมสากล เกิดขึ้นโดยพระดำริของพระสันตะปาปาปีโอที่ 11 ในปี ค.ศ.1926 ที่ทรงปรารถนาให้คริสตชนทั่วโลกได้ตระหนักถึงความสำคัญของการแพร่ธรรมสู่นานาชาติ โดยกำหนดให้วันอาทิตย์ก่อนวันอาทิตย์สุดท้ายของเดือนตุลาคมของทุกปี เป็นวันแพร่ธรรมสากล โดยให้สมณองค์กรสนับสนุนงานแพร่ธรรม (PMS) เป็นเจ้าภาพเชิญชวนให้คริสตชนในแต่ละประเทศทั่วโลกได้ร่วมใจกัน “สวดภาวนา” และ “การถวายเงิน” เพื่องานแพร่ธรรมทั่วโลก

          2. เงินถวายที่ได้รับจากสัตบุรุษทั่วโลกจะได้รับการจัดสรรไปยังประเทศที่ยากจน หรือประเทศที่เพิ่งจัดตั้งพระศาสนจักรที่ได้ทำโครงการขอทุนมายังสมณองค์กรสนับสนุนงานแพร่ธรรม (PMS) กรุงโรม ซึ่งมีสมาชิกเป็นตัวแทนประเทศละ 1 คน (ประเทศไทยมีคุณพ่อไตรรงค์ มุลตรี เป็นผู้อำนวยการ) เข้าร่วมประชุมใหญ่เพื่อพิจารณาปีละ 1 ครั้งในเดือนพฤษภาคมของทุกปี

          3. เงินถวายถูกนำไปใช้ในโครงการต่าง ๆ เช่น ทุนการศึกษาเด็กยากจนมากกว่า 1,200 โรงเรียน คลินิกผู้ป่วยยากจนและคนใกล้ตาย 9,000 แห่ง การฝึกอบรมนักบวชชายหญิง 9,000 คน ที่พักและอาหารให้เด็กกำพร้า 10,000 คน สามเณรเล็ก กลาง ใหญ่ 30,000 คน นอกจากนั้นยังมี ยานพาหนะ จักรยาน มอเตอร์ไซค์ เพื่อการแพร่ธรรม บ้านพัก ศาลาพักศพ สำนักงานสังฆมณฑลที่จัดตั้งใหม่ ครูคำสอน สื่อสารมวลชน ฯลฯ สำหรับประเทศไทย ทุกสังฆมณฑลก็ได้รับการสนับสนุนเพื่องานแพร่ธรรมด้วยเช่นเดียวกัน

ข.พระคัมภีร์และคำสอน
          1.บทอ่านที่หนึ่ง (อสย. 56:1,6-7) ประกาศกอิสยาห์ได้ทำหน้าที่นำสารของพระเจ้ามาประกาศให้ชาวอิสราเอลและคนต่างชาติได้ทราบถึงแนวทางปฏิบัติเพื่อจะได้เป็นคนชอบธรรม เป็นต้นในเรื่องของการอธิษฐานภาวนา

          2.บทสดุดี (สดด. 67) บทเชิญชวนให้นานาชาติได้ มารู้จักและรับความรอดพ้นจากบาป

          3.บทอ่านที่สอง (กจ. 13:46-49) นักบุญเปาโลและบารนาบัสได้อธิบายสาเหตุที่ต้องออกไปประกาศข่าวดีแก่คนต่างชาติ ด้วยเหตุผล 2 ประการ คือ ชาวยิวปฏิเสธที่จะยอมรับ และเพื่อสนองตอบพระบัญชาที่ให้สานุศิษย์นำความรอดไปจนสุดปลายแผ่นดิน

          4.พระวรสาร (ลก. 24:13-35) ศิษย์สองคนที่กำลังเดินทางไปหมู่บ้านเอมมาอูสด้วยสับสนและท้อใจ แต่การได้พบกับพระคริสตเจ้าด้วยการสนทนาและในการบิขนมปังจุดประกายให้พวกเขาเกิดความปรารถนาอย่างแรงกล้าที่จะออกเดินทางกลับไปยังกรุงเยรูซาเล็มอีกครั้ง และประกาศว่าองค์พระผู้เป็นเจ้าทรงกลับคืนพระชนมชีพอย่างแท้จริง

          5. สาส์นวันแพร่ธรรมสากลประจำปีนี้ (2023) สมเด็จพระสันตะปาปาฟรังซิสทรงเลือกมาจากพระวรสาร ตอนที่ศิษย์สองคนเดินทางไปหมู่บ้านเอมมาอูสในหัวข้อที่ว่า “หัวใจที่เร่าร้อนเป็นไฟ เท้าต้องก้าวเดินไป” (ลก.24:13-35) เพื่อช่วยเราคริสตชนในการฟื้นฟูจิตตารมณ์ธรรมทูต โดยเน้นการไตร่ตรองสิ่งสําคัญ 3 เรื่อง คือ 1) การอ่าน รําพึง ไตร่ตรองพระคัมภีร์เพื่อส่องสว่างจิตใจของเรา และก่อให้เกิดการกลับใจทางธรรมทูต เปลี่ยนแปลงชีวิตให้เป็นศิษย์ธรรมทูต 2) การชิดสนิทสัมพันธ์กับพระเยซูเจ้าในศีลมหาสนิท บ่อเกิดและจุดสูงสุดของงานธรรมทูตให้เราเป็นเหมือนกับองค์พระเยซูเจ้าคือเป็นปังที่ถูกบิออก เป็นขนมปังทางวัตถุที่ช่วยคนอดอยากได้อิ่มท้อง นี่คืองานเมตตากิจที่เป็นพันธกิจของพระศาสนจักรและคริสตชนทุกคน และเป็นปังแห่งศีลมหาสนิทที่ทําให้เราคริสตชนสนิทสัมพันธ์กับพระเยซูเจ้าอย่างพิเศษ ทําให้เรามีประสบการณ์โดยตรงกับพระเจ้า 3) การก้าวเดินไป บ่งบอกถึงพลังที่ได้รับจากพระคัมภีร์และศีลมหาสนิท ทําให้คริสตชนเกิดความชื่นชมยินดีในพระวรสารอย่างแท้จริงและพร้อมที่จะประกาศถึงข่าวดีขององค์พระคริสตเจ้าแก่ผู้อื่นที่ยังไม่รู้จักพระองค์

ค.ปฏิบัติ

          1. “ภาวนา” ให้เราอุทิศบุญกุศลจากมิสซาและคำภาวนาในวันนี้เพื่องานแพร่ธรรมทั้งในระดับวัดของเรา ประเทศของเราและ ทั่วโลก และก่อนนอนขอให้อุทิศการสวดวันทามารีย์ 1 บท เพื่องานแพร่ธรรมสากล
          2. “ถวายเงิน” ในพิธีมิสซา หรือ ใส่ซองพิเศษเพื่อสนับสนุนงานแพร่ธรรมโดยสังฆมณฆลจะได้รวบรวมส่งไปยังสันตะสำนัก
          3. “สมัครเข้าเป็นสมาชิกฆราวาสแพร่ธรรม” ในองค์กรใดองค์หนึ่งของวัดและสังฆมณฑล

คาทอลิกไทย "รวมพลังรักษ์โลก" ค.ศ.2024-2025

คาทอลิกไทยรวมพลังรักษ์โลก ค.ศ.2024-2025

สารสังฆมณฑลราชบุรี

สารสังฆมณฑลราชบุรี ปีที่ 37 ฉบับที่ 3 เดือนมกราคม-เมษายน 2024

การปกป้องคุ้มครองนักเรียนฯ

นโยบายและแนวปฏิบัติในการปกป้องคุ้มครองนักเรียน โรงเรียน/สถานศึกษาสังกัดสังฆมณฑลราชบุรี

สถานที่อบรม-สัมมนา

ศูนย์ภาวนา"ทาบอร์" จ.กาญจนบุรี
บ้าน"เย็นเนซาเร็ธ" จ.เพชรบุรี
ค่ายลูกเสือดรุณาเฉลิมพระเกียรติบ้านพระหฤทัย บางนกแขวก