ถาม: แต่งงานแล้ว แต่ไม่สามารถมีบุตรได้ เราทั้งสองเป็นคริสตชน อยากมีบุตรมาก ๆ ใช้วิธีการ “อุ้มบุญ” เพื่อจะมีบุตรได้หรือไม่?
ตอบ: ครอบครัวคริสตชนคาทอลิก เป็นชุมชนพื้นฐานที่เกิดจากความรัก การรวมเป็นหนึ่งเดียวในการแต่งงานของชายและหญิง พร้อมกับบุตรที่จะเกิดมา การแต่งงานของคาทอลิกจึงต้องมีความรักเป็นพื้นฐาน และยอมรับพันธะทั้ง 3 ประการนี้ คือ ความเป็นหนึ่งเดียวกันของชายและหญิง หย่าร้างไม่ได้ และการให้กำเนิดบุตร ในการให้กำเนิดบุตร ก็ต้องเกิดจากความรักที่แสดงออกทางเพศสัมพันธ์ของคู่สามีภรรยาแบบธรรมชาติ
การอุ้มบุญ หมายถึง การให้หญิงอื่นอุ้มท้องแทนคู่สามีภรรยาที่ไม่สามารถมีบุตรได้ (และอยากจะมี) โดย
- นำเชื้อของฝ่ายชาย (พ่อ) กับไข่ของฝ่ายหญิง (แม่) มาผสมกันในห้องทดลอง แล้วจึงฉีดเข้าในมดลูกของหญิงที่จะอุ้มบุญ
- นำเชื้อของฝ่ายชาย (พ่อ) กับไข่ของหญิงที่จะอุ้มบุญมาผสมกัน แล้วฉีดฝังในมดลูกของหญิงที่จะอุ้มบุญ
แนวทางของพระศาสนจักรคาทอลิก
+ บุตรต้องเกิดจากความรักของสามีภรรยาที่แสดงออกผ่านทางเพศสัมพันธ์แบบธรรมชาติ ไม่ต้องพึ่งเครื่องมือหรืออุปกรณ์ต่าง ๆ
+ คู่สามีภรรยาควรน้อมรับพระประสงค์ของพระ ทั้งในกรณีมีบุตร และกรณีที่ไม่สามารถมีบุตรได้
การอุ้มบุญ จึงเป็นการให้กำเนิดบุตรโดยใช้เครื่องมือด้านวิทยาศาสตร์เข้ามาช่วยเหลือ มิใช่เกิดจากเพศสัมพันธ์ตามธรรมชาติของคู่สามีภรรยา และการตั้งครรภ์ก็จ้างวานหรือขอร้องให้หญิงอื่นตั้งครรภ์แทน
ผลที่ตามมา
- ถ้าน้ำเชื้อเป็นของฝ่ายชาย (พ่อ) กับไข่ของฝ่ายหญิง (แม่) ด้านพันธุกรรมเด็กที่เกิดมาเป็นลูกของสามีภรรยาคู่นี้ แต่ด้านการหล่อหลอมเลี้ยงดูในครรภ์เป็นของหญิงที่อุ้มบุญ
- ถ้าน้ำเชื้อเป็นของฝ่ายชาย (พ่อ) กับไข่ของหญิงที่จะอุ้มบุญ ด้านพันธุกรรมเด็กที่เกิดมาเป็นลูกของฝ่ายชาย (พ่อ) กับหญิงที่อุ้มบุญ เมื่อคลอดออกมาเด็กเป็นลูกของฝ่ายชาย (พ่อ) และฝ่ายหญิง (แม่) กรณีนี้ หญิงที่อุ้มบุญเป็นแม่ทั้งด้านพันธุกรรมและการหล่อหลอมเลี้ยงดูในครรภ์ด้วย
- ถ้าน้ำเชื้อเป็นของชายคนหนึ่ง (ใครก็ไม่รู้) กับไข่ของหญิงคนหนึ่ง (ใครก็ไม่รู้) เด็กที่เกิดมาเป็นลูกของชายคนนั้น กับหญิงคนนั้น (ใครก็ไม่รู้) ด้านการหล่อหลอมเลี้ยงดูในครรภ์เป็นของหญิงอุ้มบุญ เมื่อเด็กคลอดออกมาเป็นลูกของสามีภรรยาที่ต้องการมีลูก
กรณีแบบนี้ เด็กที่เกิดมาทราบที่มาที่ไปของเขา เขาจะรู้สึกอย่างไร มันเป็นการสร้างแผลในใจให้เด็กนั้นหรือไม่? น่าคิด น่าไตร่ตรองนะ สิ่งที่พระเจ้าให้มานั้นเหมาะสมแล้ว พระประสงค์ของพระมีคุณค่าเสมอในชีวิตของเรา น้อมรับเถิด...
(จากคอลัมน์ ถามมา-ตอบให้ สารสังฆมณฑลราชบุรี ฉบับที่ 1 เดือนพฤษภาคม - เดือนสิงหาคม 2017 )