DOMUS NOVA IN ANTIQUA SEDE

กระจกสี (Stained Glass) "ศิลปะบนกระจกแก้ว"แนะนำตัวสักหน่อยครับ
              สวัสดีค่ะ ชื่อศิริพร โภคทวี เป็นสัตบุรุษวัดกาลหว่าห์ เป็นคริสตังตั้งแต่กำเนิด ล้างบาปที่วัดนี้ ตัวเรามีพ่อกับแม่ที่เป็นแบบอย่างของความศรัทธา และท่านก็เป็นคนสอนให้เรามีความศรัทธาเหมือนกับท่านเช่นกัน ซึ่งสิ่งนี้เป็นสิ่งที่ดีมากที่เราได้รับมาจากพ่อแม่

 

ขอถามความรู้สึกกับโจทย์ที่ได้รับ กับการทำกระจกสีบานนี้
             การได้มาทำกระจกสีบานนี้ให้คุณพ่อ ให้สังฆมณฑลราชบุรีถือว่าดีใจมาก เพราะว่าหลายครั้ง ที่ได้ทำงานกับวัดคาทอลิกของเรา ก็คิดว่าพระเจ้าทรงส่งมาให้เราทำพอคิดอย่างนี้ เราก็รู้สึกเหมือนว่าเราได้ติดต่อกับพระเจ้า พระเจ้าทรงให้หน้าที่เรา ในการทำบ้านของพระให้สวยให้งดงาม ฉะนั้นงานของวัดทุกวัดที่ได้ไปทำ ก็จะทำด้วยความภูมิใจและถือเป็นเกียรติที่ได้รับใช้พระเจ้า

 

             เมื่อคุณพ่อโทรมาสอบถามว่า สนใจจะทำกระจกสีให้กับวัดเก่าของบ้านเณรหลังนี้ไหม เราเองก็ขอคุณพ่อเข้าไปดูหน้างาน ปรากฏว่าพอไปเห็นก็สัมผัสได้ถึงความท้าทาย เห็นรูปที่คุณพ่อให้ดู แทบจะไม่เห็นอะไรเลย ก่อนอื่นก็ต้องขอกล่าวถึงสักนิดหนึ่งว่า เรามีหลานชายซึ่งเป็นลูกของพี่ชาย ชื่อ พีระ โภคทวี เขาเป็นอาจารย์ที่เก่งมาก ในเรื่องของการวาดภาพ ถอดแบบออกมาให้เห็นรายละเอียดของภาพชัดเจนขึ้น และศึกษาพร้อมกับนำเสนอความคิดเกี่ยวกับแบบ ก็เลยรู้สึกว่า เหมือนว่าพระเจ้าทรงส่งให้เขามาเป็นผู้ช่วย เป็นเครื่องมืออีกชิ้นหนึ่งของพระองค์ที่จะช่วยให้งานนี้สมบูรณ์ขึ้นมาได้

 

          จริง ๆ แล้ว เราเองเป็นคนที่เรียนด้านออกแบบตกแต่ง ไม่ได้เป็นศิลปิน แต่หลานชายคือ อาจารย์พีระ เขามีพรสวรรค์ในเรื่องศิลปะ และตัวเขาก็เป็นศิลปินสีน้ำด้วย ซึ่งมีอยู่วันหนึ่ง เขาก็เดินมาบอกว่า “เขาจะมาช่วยทำ จะช่วยวาดรูปให้” เราก็รู้สึกดีใจที่มีหลานชายเข้ามาช่วยเสริมอีกแรงหนึ่ง

          

           ตอนทำงาน บางครั้งก็รู้สึกเครียดบ้าง เพราะว่าเราไม่ได้เรียนมา ไม่ได้มีพรสวรรค์มาทางด้านนี้โดยตรง แต่นี่คืออัศจรรย์ที่พระเจ้าทรงส่งคนมาช่วยงานเรา งานนี้และงานทุกงานที่ได้ทำมาก็สำเร็จ ซึ่งจริง ๆ งานแต่ละงานก็ยากแตกต่างกันไป แต่เราก็พยายามที่จะทำให้ได้ ให้สำเร็จ ถ้าเสียก็ทำใหม่ วนไปเรื่อย ๆ จนเกิดความชำนาญ จนถึงวันนี้เวลาผ่านไป 40 ปี ก็เก่งขึ้นจากความชำนาญ และต้องขอบอกด้วยว่าพระเจ้าก็ทรงช่วยทำ เพราะว่า “ทำไป ก็สวดไป” เราจะคิดในแง่นี้เสมอในการทำงานว่าความสามารถนี้ ถือเป็นพระพรที่เราได้รับมาจากพระองค์

 

             คุณพ่อและทีมงาน มีความสนใจและยินดีให้เราทำงานนี้แถมให้เงินเราในการจัดทำเพราะมันมีค่าใช้จ่าย ท่านก็เข้าใจซึ่งเวลาที่มีเงินเข้ามาเราก็จะรู้สึกว่า พระเจ้าทรงให้งานแล้วให้ทำบ้านของพระองค์แล้ว พระองค์ยังทรงให้เงินลูกด้วยหรือ เหมือนเป็นพระพรมากมายที่เราได้รับ ดังนั้น เมื่อเราได้รับพระพรหลายอย่าง เราก็ยิ่งรู้สึกดีใจ และภูมิใจกับงานที่ได้ทำ

 

             วันนี้ที่มาสัมภาษณ์ คุณพ่อและทีมงานก็ได้เห็นความยากของการทำงาน จะบอกว่า งานกระจกสีตามวัดคาทอลิกเก่าแก่ต่าง ๆ ในเมืองไทย หรือแม้แต่ในราชบุรีเอง ต้องบอกแบบนี้ว่า ล้วนแล้วแต่นำเข้ามาจากฝรั่งเศสมาเป็นร้อย ๆ ปี มีหลายที่ชำรุดเสียหายก็ต้องซ่อม และคนซ่อมกระจกสีเองก็หายาก แต่ยุคหลังมานี้ก็พอมีบ้างก็ช่วยกัน แบ่งงานกันไปซ่อมบ้าง และเวลาที่ซ่อมกระจกสี เราก็ได้ประโยชน์จากเทคนิคของคนโบราณ ว่าเขาทำแบบนี้ แบบนั้นก็ได้หรือ เวลาที่เราซ่อม เราก็ต้องถอดกระจกทั้งหมดออก แล้วก็ค่อย ๆ พิจารณาแต่ละชิ้น แล้วก็ได้เรียนรู้ไปด้วย ฉะนั้นตรงนี้เราก็รู้สึกว่าเป็นกำไร ดังนั้น สิ่งต่าง ๆ ที่ได้รับก็ต้องขอบคุณพระเจ้าในความรักและเป็นการเพิ่มพูนความเชื่อ ความศรัทธา จากงานที่เราทำ

              การทำงานนี้ถือว่าดีใจที่ได้รับใช้พระเจ้า และขอบคุณคุณพ่อและสังฆมณฑลราชบุรีที่ได้มอบหมายงานชิ้นนี้ให้เราทำ

 

ทำไมถึงตอบรับและลงมือทำงานชิ้นนี้
              เริ่มต้นจากที่ได้ไปพบคุณพ่อและทีมงานครั้งแรก ทางคุณพ่อและทีมงานได้เล่าให้ฟังถึงกระจกสีบานนี้เล่าถึงวัดของบ้านเณรหลังนี้ว่าเคยมีกระจกสีลักษณะนี้อยู่ แต่หายไปแล้ว ไม่มีอยู่แล้ว เราก็เห็นความพยายามของคุณพ่อที่จะรื้อฟื้นและสร้างอาคารจำลองบ้านเณรขึ้นมาใหม่ให้เหมือนเดิม และเห็นว่าสังฆมณฑลราชบุรี โดยพระคุณเจ้าสิริพงษ์ คุณพ่อและทีมงานอยากให้ของเก่า ๆ ที่เคยมีอยู่แล้วหายไป กลับคืนมา เราก็ยิ่งรู้สึกเห็นด้วยอย่างมาก

 

               อยากจะร่วมมือกับคุณพ่อ คุณพ่อให้ดูรูปกระจกสีบานเก่า เราเห็นแล้วเราก็ว่า โอ้โห มีแต่รูปขาว-ดำ ไม่มีรูปอื่นเลย ไม่มีรูปสีเลย ดูก็ไม่ค่อยชัดมองไปแล้วก็ถือว่างานนี้ยากพอควร แต่อย่างที่บอกหลานชายสามารถถอดแบบได้ เราให้เขาช่วยถอดแบบ เขาก็นั่งถอดแบบไปเรื่อย ๆ คิดไป พิจารณาไป ถอดแบบออกมา ใช้ความพยายามสูง แต่ถามว่าจะเหมือนของเก่าเลยไหม คงยากที่จะเหมือนเป๊ะ ๆ เพราะเราดูจากรูปภาพไม่ใช่ของจริง และรูปภาพที่เราเห็นก็เป็นขาวดำ แต่ถ้ารูปภาพนี้เป็นรูปสี คงจะสวยมาก ซึ่งของจริงต้องเป็นสีแน่นอน เพราะฉะนั้นอย่าคิดว่ารูปเก่าไม่สวย รูปที่ทำครั้งนี้การให้สีอาจจะเหมือนของเก่าเลยก็เป็นได้ ใครจะไปรู้ ดังนั้น ก็ถือว่าเราได้ทำการรื้อฟื้นให้ได้ของเก่าคืนกลับมา นึกถึงที่คุณพ่อเล่าว่า วัดนี้หายไปเลย ต้องขุดดิน ต้องฟื้นฟูทำความสะอาดขึ้นมาใหม่ ต่าง ๆ นานา ทำให้สิ่งนี้ยิ่งเป็นสิ่งที่ท้าทายยิ่งคุณพ่อเล่าข้อมูลให้ฟัง เรายิ่งตื่นเต้นกับสิ่งที่เราจะทำให้มันเกิดขึ้นมากยิ่งขึ้นไปอีก “จะมีสักกี่คนที่รักษาของเก่า ของเก่าที่ดีเราต้องเก็บไว้ไม่ใช่ว่าเดี๋ยวนี้ทันสมัยแล้ว ทุกอย่างดีหมด แต่ไม่เสมอไป เพราะของเก่าที่ดีมีอยู่เยอะแยะที่เราทิ้งไป ที่เราเสียไป เราต้องเก็บไว้ รักษาไว้”

ความยากง่ายของการทำกระจกสีและแนวทางการทำกระจกสีเป็นอย่างไรครับ
              มา ณ จุดนี้ ถือว่าไม่ยากแล้ว ที่เคยผ่านงานยาก ๆ มา ถือเป็นความท้าทาย จริง ๆ ก็ต้องคิดให้มากและพยายามศึกษาจากรูปภาพเก่า ๆ หรือ กระจกสี (Stained Glass) ที่คนโบราณเขาทำ ว่าทำอย่างไร ศึกษาไป ทำงานไป จริง ๆ งานก็เหมือน ๆ กัน เพราะจุดที่ยากคือการสร้างแบบหรือถอดแบบ ซึ่งหลานชายก็รับไปช่วยทำแล้ว วิธีการทำงานเป็นอย่างนี้ พอเราได้งานมาถ้ามีรูปตัวอย่างก็จะดี แต่ถ้าไม่มี ทางอาจารย์พีระก็จะออกแบบร่วมกับเจ้าของงานได้ ส่วนเรามีหน้าที่อะไร เรามีหน้าที่คัดลอก(copy) พอบอกว่าเป็นงานคัดลอก หลายคนอาจจะบอกว่าดูเป็นงานที่ไม่มีความรู้เลย อยู่ดี ๆ มาคัดลอกอย่างเดียว แต่จริง ๆ แล้ว

 

                งานคัดลอกกระจกสีนี้ คือ งานคัดลอกลายและระบายสีลงบนกระจกซึ่งงานนี้กลายเป็นงานที่ไม่ได้ง่ายอย่างที่คิดเพราะเวลาที่เราทำเสียก็ต้องทำใหม่ แต่เราก็ชินแล้ว เพราะฉะนั้นทำเสียเป็นครู ผิดเป็นครู แล้วเราก็ทำใหม่ ดังนั้นก็จะเห็นได้ว่ามีกระจกดี ๆ ที่เป็นเศษที่เราทิ้งเยอะพอสมควรเลย หลายคนก็คิดว่าเสียดาย แต่เราก็รู้สึกว่าก็ไม่เท่าไร เพราะอันนี้สอนให้เราทำได้ดีขึ้น อันนี้ก็เป็นสิ่งที่ช่วยสร้างนิสัยที่ดีให้กับเรา

 

ช่วยอธิบายขั้นตอนการทำกระจกสีคร่าว ๆ ให้พอเข้าใจสักหน่อยครับ
กระจกสีทำอย่างไร ขั้นตอนของการทำกระจกสีคือ
1. เราต้องรู้ว่าจะต้องทำรูปอะไร แม้กระทั่งรูปง่าย ๆ หรือ ยาก ๆ ไม่ต้องเป็นงานวัดก็ได้ ทำการออกแบบหรือคัดลอกแบบให้เรียบร้อย
2. ให้เราหากระจกสีที่เราเห็นว่าสวย เหมาะสมกับองค์ประกอบในแต่ละส่วนของภาพที่เราออกแบบหรือคัดลอก เมื่อเราหากระจกสีได้ตรงตามที่ต้องการแล้วก็เข้าสู่ขั้นตอนต่อไป
3. เราก็เริ่มคัดลอกแบบลงไปบนกระจกสี และทำการตัดกระจกตามขนาดที่เราแยกองค์ประกอบไว้แล้ว ด้วยที่ตัดกระจกหัวเพชร
4. เมื่อตัดกระจกได้แล้ว เราก็ต้องทำการเจียกระจกเพื่อลบคม และตกแต่งขอบให้เรียบเนียนพร้อมสำหรับประกอบลงบนแบบร่าง ประกอบเหมือนกับตัวต่อ (jigsaw-จิ๊กซอว์) วางเป็นชิ้น ๆ ทำแบบนี้จนครบทุกชิ้น
5. เมื่อเรียงเป็นระเบียบเรียบร้อยแล้วเราต้องนำกระจกเหล่านี้มาประกอบเป็นแผ่นเดียวกัน ด้วยการหุ้มด้วยทองแดงและตะกั่ว และบัดกรี (soldering) เพื่อเชื่อมทองแดงและตะกั่วแต่ละเส้นเข้าด้วยกัน จึงทำให้เห็นกระจกสีออกมาเป็นแผ่นเดียวกันได้

 

                   ดูผิวเผินถ้าทำตามขั้นตอนที่ว่ามานี้ก็คงเสร็จสิ้นกระบวนการแล้ว แต่ถ้าทำงานของวัดคาทอลิกอย่างเรา ๆ นี้ ก็จะมีรายละเอียดมากขึ้นเพิ่มเข้ามา ทั้งหน้าตา รูปแม่พระรูปพระเยซูเจ้า รูปนักบุญต่าง ๆ ก็ต้องลงสี (paint) อันนี้ก็อยู่ในอีกขั้นของการทำงานเลย คนละแบบเลย จะไปแทรกอยู่ในขั้นตอนของหลังจากตัดกระจกแล้วก็นำมาลงสีลงเงาตามแบบที่ร่างไว้ โดยจะมีสีที่ใช้อยู่ 2 ชนิดหลัก ๆ คือ สีน้ำมันกับสีน้ำ ส่วนตัวเราใช้สีน้ำ เพราะสีน้ำล้างง่ายและสีน้ำมันก็กลิ่นแรง สีน้ำก็สะดวกกว่า แต่สีน้ำเองก็วาดยาก เมื่อวาดเสร็จแล้วก็นำไปใส่เตาเผา พอเผาเสร็จก็ตรวจกันอีกทีว่าเผาแล้วเรียบร้อยไหม ถ้าไม่เรียบร้อยก็ซ่อม ซ่อมแล้วก็เผาใหม่ คือว่าง่าย ๆ เผากี่ครั้งก็ได้ จนมันสวยจนเราพอใจ ส่วนกระจกชิ้นที่เผาเสร็จแล้วตรวจแล้ว ก็นำมาประกอบเหมือนกับงานที่ไม่ได้เผา แต่สำหรับงานของวัด เราต้องลงสีและเผา ด้วยอุณหภูมิที่จะทำให้สีซึมลงไปในเนื้อกระจกนั้นต้องใช้อุณหภูมิ 1,250 องศาฟาเรนไฮต์โดยสีที่เราใช้มีผงฝุ่นของกระจก จะนำพาสีซึมลงไปในเนื้อกระจก ฉะนั้นสีจะไม่มีวันหลุดเลย โดยเฉพาะประเทศของเรายิ่งไม่มีทางหลุด เพราะว่าอุณหภูมิที่ใช้ร้อนเกินกว่าสภาพอากาศปกติอยู่แล้ว ดังนั้นถ้าทำผิดก็คือทิ้ง ล้างไม่ออก แต่ถ้าจะล้างจริง ๆ ก็ออก แต่ก็ต้องใช้น้ำกรดล้าง เราก็เคยล้างแล้วแต่ก็ยังทิ้งรอยอยู่ ดูแล้วไม่สวย ทำใหม่ดีกว่า พอได้กระจกที่ลงสีและอบตามที่ต้องการก็นำมาประกอบเหมือนปกติและสุดท้ายคือนำไปติดตั้งลงในกรอบไม้ ในวัดหรือในสถานที่ที่เราต้องการจะติดตั้ง เพียงเท่านี้ก็เสร็จสิ้นในส่วนของขั้นตอนการทำกระจกสี