DOMUS NOVA IN ANTIQUA SEDE

 

ย้อนอดีต ชีวิตเณรบางนกแขวก

 
                ก่อนอื่นขอย้อนกลับไปสมัยที่พระคุณเจ้าคาเร็ตโตได้ย้ายเณรบางนกแขวกไปอยู่ที่บ้านเณรใหม่ที่ราชบุรีเมื่อ ค.ศ. 1959 แล้วหลังจากนั้นบ้านเณรที่บางนกแขวกก็ถูกรื้อถอนไปเหลือแต่ถ้ำแม่พระอยู่ริมแม่น้ำ สภาพพื้นที่ก็เปลี่ยนไปตามความเจริญที่มีถนนตัดผ่าน ผู้คนที่ผ่านไปมาก็ได้แต่รู้ว่าที่ตรงนี้เคยเป็นบ้านเณร หลักฐานเหลือเพียงพื้นปูนกับกองอิฐอยู่บางแห่งนานกี่สิบปีก็ไม่ทราบได้ แต่มายุคหลัง ๆ นี้พระคุณเจ้าสิริพงษ์ จรัสศรี ท่านเคยพูดความหวังอยากให้มีอะไรสักอย่างเป็นตึกก็ได้ ให้รู้ว่าตรงนี้เคยเป็นบ้านเณรบางนกแขวก

                สุดท้ายอาจารย์พิบูลย์ ยงค์กมล ท่านสานฝันให้เป็นความจริงโดยสร้างตึกใหม่รูปร่างเหมือนบ้านเณรเก่า แม้สร้างได้เพียงตึกยาวตึกเดียวเนื่องจากมีพื้นที่จำกัด ประสานงานกับทางสังฆมณฑลราชบุรีเป็นที่รู้เห็นกันและใช้ประโยชน์เป็นศูนย์อบรมได้แล้วในปัจจุบัน

                คุณโน้ต จิรายุทธ กลิ่นสวัสดิ์ เขาเลยมีความคิดว่าน่าจะมีใครสักคนออกมาเล่าเรื่องราวชีวิตเณรบางนกแขวกในสมัยนั้นให้คนรุ่นหลังได้รับรู้กันบ้าง ก็เลยหันซ้ายหันขวาไม่รู้ว่าหันอีท่าไหนมาเจอผมพอดี เลยขอให้ผมรับหน้าที่นี้ในฐานะที่สามารถอยู่บ้านเณรบางนกแขวกถึง 5 ปีแล้วยังอุตส่าห์ดั้นด้นไปอยู่บ้านเณรที่ราชบุรีได้อีกตั้ง 3 เดือนถือว่ามีข้อมูลฉายภาพซ้ำในอดีตได้พอสมควร

                ต้องขออนุญาตไว้ตรงนี้ก่อนว่าเรื่องราวบางตอนจำเป็นต้องเอ่ยชื่อ ไม่ว่าจะเป็นบรรดาพระสงฆ์ที่เคยอยู่ที่บ้านเณรซึ่งตอนนี้น่าจะเหลือคุณพ่อสมบูรณ์ แสงประสิทธิ์ ท่านเดียว ส่วนรุ่นพี่ รุ่นเพื่อน รุ่นน้องนั้น วันเวลามันผ่านไปเกือบ 70 ปี หลายท่านเป็นพระสงฆ์ไปแล้ว ส่วนพวกที่กระแสเรียกหมดก็กระจายกันไป เห็นกันบ้าง ส่วนมากจะไม่ค่อยเห็นกัน แล้วก็อีกส่วนหนึ่งคือผู้ที่จากโลกนี้ไป แล้วก็ด้วยความเคารพต่อดวงวิญญาณของทุกท่านว่าขอเอ่ยชื่อเพราะท่านอยู่ในเหตุการณ์นั้นด้วย

เริ่มชีวิตบ้านเณร


               สมัยก่อนไม่มีค่ายกระแสเรียก การเข้าบ้านเณรก็เลยเป็นแบบใครแบบมัน คุณพ่อสมบูรณ์ แสงประสิทธิ์เคยเล่าว่าตอนนั้นเรียนอยู่ ม.5 โตแล้ว พระคุณเจ้าปาซอตตีบอกว่าให้ไปเที่ยวบ้านเณร ท่านก็เลยนั่งเรือเณรข้ามฝั่งไป เพื่อน ๆ อยู่ริมแม่น้ำตะโกนว่า “มึงจะข้ามไปทำไม” ข้ามไปข้ามมาเลยเข้าบ้านเณรไปเลยอีกท่านหนึ่ง คุณพ่อสิทธิพล พานิชอุดม เข้าเณรที่ราชบุรี แต่วิธีการเข้าเณรก็แปลกดี ท่านเล่าว่า “เตี่ยกับแม่บนไว้เลยต้องเข้าเณร” อยู่ไปอยู่มาได้บวชอีกเลยกลายเป็นพระสงฆ์แก้บนไปเลย เพื่อน ๆ เข้าบ้านเณรกันยังไงไม่รู้ ส่วนผมจบ ป.4 แล้วประมาณต้นเดือนพฤษภาคม ก่อนเปิดเรียนแม่ก็พายเรือพาผมไปส่งไว้ที่บ้านเณร ผมก็หิ้วกระเป๋าไปที่บ้านเณรหน้าตาเฉยแบบไม่รู้ว่าต้องทำยังไง ก็พอดีมีเณรใหญ่คนนึงพาผมไปหาคุณพ่ออธิการ ต่อมาจึงรู้ว่าเป็นครูเณรชื่อชลอ วรรณประทีป คุณพ่ออธิการถามนิดหน่อยก็จบไม่เห็นได้คัดกรองอะไร ครูเณรพาผมไปให้รู้ว่าต้องนอนตรงไหนนั่งตรงไหนในห้องเรียนรวม แล้วก็บอกว่าให้ตามเพื่อน เขาทำอะไรก็ตามเขา นึกถึงสมัยนั้นเราก็ได้แต่ครับ ๆ ลูกเดียว เข้าเป็นเณรสมัยนี้เราก็จะบอกว่า ถ้าเพื่อนเข้าห้องน้ำผมต้องเข้าตามไหมครับ พวกเณรสบายสองอย่าง ซักเสื้อผ้ากับกินข้าวมีซิสเตอร์กับพวกแม่ครัวทำให้ ครูเณรมาเขียนเบอร์ที่เสื้อและกางเกงทุกตัว บอกว่าส่งไปซักแล้วกลับมาให้ดูเบอร์ของตัวเองของใครของมัน ผมจำได้ว่าได้เบอร์ 49 ตอนที่ออกจากเณรไปหลายสิบปีแล้วนึกได้ เอาเบอร์นี้ไปซื้อหวย กินเรียบเลยครับ พวกเณรที่เข้าปีแรกจะมีพฤติกรรมเหมือนกันคือ เด๋อ ๆ ด๋า ๆทำอะไรไม่ค่อยถูก แต่ก็ดีอย่างที่มีรุ่นพี่ช่วยบอกช่วยดูแลรุ่นน้องคุณพ่อสุรินทร์ ชุนฟ้ง เป็นรุ่นพี่ที่เอาใจใส่รุ่นน้องดีมากเลย เคยสอนผมให้จัดหนังสือสมุดอะไรต่าง ๆ ในโต๊ะส่วนตัวในห้องเรียนรวม คุณพ่อสุรินทร์สอนผมให้ใช้ระบบซุกกิ้งคือหนังสือสมุดอะไรที่สวยงามก็เอาไว้ข้างหน้าให้มองเห็น ส่วนที่ไม่น่าดูให้จับซุกไว้ข้างในไม่ให้มองเห็น เป็นระบบที่รุ่นพี่สอน สุดยอดมากเลย ครูเณรหรือใครมาตรวจก็ผ่านแน่นอนระบบพี่สอนน้องคิดว่าเป็นระบบที่ดีอย่างหนึ่งในบ้านเณรเลยนะครับ

 

 

 

การเรียนภาคบังคับของเณร


            อย่างแรกเณรจะต้องเรียนภาควิชาทั่วไปโดยต้องข้ามฝั่งไปเรียนที่โรงเรียนดรุณานุเคราะห์ ปีการศึกษาจะเริ่มกลางเดือนพฤษภาคม เรียน 3 เทอม ๆ ละ 3 เดือน แต่ละเทอมจะมีการสอบด้วย แต่จะถือเอาผลสอบปลายปีเป็นตัวตัดสิน ใช้คะแนนรวมทุกวิชาเป็นตัวตั้งและรวมคะแนนทุกวิชาที่สอบ ถ้าได้ 50% เป็นต้นไปก็ได้ขึ้นชั้น   ปีต่อไปใครได้ต่ำกว่านั้นก็ต้องตกชั้น ต้องอยู่ซ้ำชั้น

 

            ตั้งแต่ ม.1 ถึง ม.6 จะมีเณรเรียนอยู่ทุกชั้น การสอบแต่ละเทอมพวกเณรจะได้ลำดับต้น ๆ แทบทุกชั้น ทำไมล่ะ? ก็เพราะเณรมีตารางเวลาแต่ละวันให้มีชั่วโมงเรียน ชั่วโมงทำการบ้าน หนีเรียนก็ไม่ได้ คะแนนสอบไม่ได้ก็ต้องไปยุบตลาดแล้วล่ะ

 

              ขอย้อนถึงการข้ามฝั่งไปเรียนสักหน่อย บ้านเณรจะมีเรือแจว 2 ลำ แจวหัวแจวท้าย ลำใหญ่ไม่มีหลังคา มีที่นั่งยาวข้างกาบเรือ คุณพ่ออธิการโปรเวราตั้งชื่อให้ว่า “เรือโนอาห์” เณรใหญ่ที่แข็งแรงจะรับหน้าที่แจวเรือ ที่จำได้ก็มีคุณพ่อชัยศักดิ์คนนึงล่ะ นอกนั้นน่าจะเป็น คุณสุรัน ชุนฟ้ง แล้วก็ ชัยยศ ต้นประเสริฐ พวกนี้จะเป็นคนแจวพายบังคับทิศทางเรือ ส่วนคนแจวหัวก็มีหน้าที่อย่างเดียว เรือแต่ละลำจะมีพายช่วยอีก 2-3 อันแต่ละวันเช้าก็ต้องแจวข้ามไปเรียน ถึงฝั่งก็แบกพายพิงไว้ที่ต้นจามจุรี ตอนเที่ยงก็แบกพายลงเรือส่งเณรข้ามฝั่งไปกินข้าวที่บ้านเณร เสร็จแล้วก็ต้องพาเณรส่งเข้าโรงเรียน บ่ายเลิกเรียนก็จะเอากลับบ้านเณร ตกลงแต่ละวันที่เรียนต้องข้ามไปข้ามมา 4 เที่ยว บางวันคุณพ่อจะข้ามไปด้วย บางทีเรือโคลงเคลงบ้าง คุณพ่อเขาก็ไม่กล้าว่า เพราะเห็นใจคนแจวคนพาย เรือโนอาห์จะหนักขึ้นทุกปี เพราะช่วงปิดเทอมไปเรือไม่ได้ใช้งาน ก็จะใช้ชันผสมน้ำมันยางอุดตามแนวเรือหนาขึ้นทุกปี

อย่างที่สอง เณรต้องเรียนภาษาละติน


              สมัยนั้นไม่ว่าจะเป็นมิสซา บทขับบทอ่านใช้ภาษาละตินทั้งหมด คนช่วยมิสซาก็ต้องตอบละติน เณรเลยต้องเรียนละติน รู้สึกส่วนตัวว่าเรียนยากคำหนึ่งแจกไปอีก 5 อย่าง ผมว่าน่าจะใช้เป็นภาษาเขียนมากกว่า แต่ละประโยคเอาคำไหนขึ้นก่อนก็ได้ เณรจะแยกเรียนตั้งแต่ชั้น ม.1 ถึง ม.6 คุณพ่อที่บ้านเณรจะเป็นผู้สอน ผู้สอนไม่พอก็ต้องใช้เณรที่จบ ม.6 ช่วยสอนจนครบห้อง สิ้นปีมีสอบด้วย บางปีมีแข่งขันตอบละตินด้วย คุณพ่อสมกิจเป็นกรรมการใหญ่ผู้เข้าแข่งขันจะเรียงตัวตอบ คุณพ่อสมกิจมีกระดิ่งกดตัวหนึ่ง ใครตอบผิดพ่อจะกดกระดิ่ง กริ๊ง! แปลว่า ตกรอบครับ ตกรอบกันไปเรื่อย ๆ จนเหลือผู้ชนะ 1 คนก็ไม่เห็นมีแจกรางวัลอะไร มีแต่เสียงตบมือ

             ขอย้อนกลับไปตอนที่ผมเข้าบ้านเณรใหม่ ๆ วันแรกต้องไปเรียนละตินร่วมกับเพื่อน ๆ ที่เข้าใหม่ปีเดียวกันนั้นอีก 7-8 คน ปรากฏว่าอาจารย์สอนคือคุณพ่อสมกิจไม่รู้ว่าท่านต้องการรับน้องใหม่หรือไม่ การเรียนวันนั้นเริ่มด้วยการนั่งฟังเทศน์ก่อน ก็นานพอสมควรแหละครับจากนั้นก็ไล่เรียงสอบถามทีละคนว่ามาเป็นเณรทำไม พวกเราก็พยายามสรรหาคำตอบให้ดีที่สุด ทุกคนจะตอบแนวเดียวกันว่าเข้าบ้านเณรเพื่อฝึกตนเอง ตั้งใจเรียน ตั้งใจรับการอบรม เพื่อสักวันหนึ่งจะได้เป็นพระสงฆ์ครับ ปรากฏว่าชั่วโมงนั้นหนังสือละตินที่จะต้องเรียนไม่ได้เปิดเลยสักหน้านึงครับ

             เหตุการณ์ปีต่อ ๆ มาเพื่อน ๆ เริ่มลืมคำพูดที่ให้ไว้กับคุณพ่อสมกิจ รู้สึกว่าจ่าเอี่ยม ค้วนเครือ จะเป็นคนแรกที่หายไปจากบ้านเณร ต่อมาอีกปี ประสิทธิ์ ตันติ ก็หายไปอีกคนแล้วก็ นิยม ภูผา ก็หายไปอีก ปีต่อมา สมชาติ ลิ้มเฉลิม ก็โล่ไปอีกคน ผมกับสนาม ผลวารินทร์ อุตส่าห์ไปถึงบ้านเณรที่ราชบุรีนึกว่าแน่ สุดท้ายก็จอดไม่ต้องแจวที่นั่น คุณวิรัช เติมนาค เขาอึดกว่าแต่ก็ไปไม่รอดอีกคน เหลือคนที่พูดแล้วทำสำเร็จคนเดียวคือ คุณพ่อดำรัส ลิมาลัย คนอื่นล้วนแต่โม้ทั้งนั้น

 

 

 

เณรมีทั้งพวกและพรรค


                 เณรจะแบ่งเป็น 2 พวก ชั้น ม.1-3 จะถูกจัดให้เป็นพวกเล็ก ชั้น ม.4-6 เณรตัวใหญ่ขึ้นก็ให้เป็นพวกใหญ่ เวลามีกิจกรรมหรืออะไรต่าง ๆ แยกกันชัดเจนรวมถึงห้ามพูดคุยกันข้ามพวกด้วยถือว่าผิดระเบียบ เณรมีหน้าที่ปฏิบัติตามอย่างเดียว ไม่ต้องไปหาเหตุผลอะไรทั้งสิ้น

                 แต่ละพวกก็ยังแบ่งเป็นกลุ่มย่อยอีกกลุ่มละ 5-6 คนเรียกว่าพรรค ให้กำหนดชื่อพรรคตัวเองได้ เช่น พรรคโดมินิก พรรคเซนต์หลุยส์ เวลามีงานฉลองก็จะกำหนดให้แต่ละพรรคเตรียมการแสดงร้องเพลงบ้าง เล่นจำอวดบ้างก็สนุกสนานดีมีอยู่ปีหนึ่งมีประกวดขับร้องเพลงศักดิ์สิทธิ์ภาษาละติน แต่ละพรรคจะส่งคนที่เจ๋งที่สุดเข้าประกวด จำได้แม่นเลยว่าคนชนะเลิศคือ คุณวิรัช เติมนาค แต่จำไม่ได้ว่าได้รางวัลอะไร รู้แต่ว่าทุกคนก็ปรบมือให้เพราะไม่ต้องลงทุนอะไรเลย

                 ธรรมเนียมห้องอาหารบ้านเณร บ้านเณรมีโรงครัวอยู่ใกล้ห้องอาหารนั่นแหละ แต่มีรั้วล้อมรอบมิดชิด ไม่มีแม้แต่ช่องให้พวกเณรมองเข้าไปได้เลย ซิสเตอร์กับแม่ครัวหน้าตาเป็นยังไงไม่มีโอกาสรู้เลย อีกทั้งหน้าโรงครัวเป็นเขตหวงห้ามไม่ให้เณรไปป้วนเปี้ยนแถวนั้นด้วย วิธีการส่งอาหารจะส่งผ่านตู้หมุน มีคนยกอาหารชื่อลุงมุ้ย ขนอาหารทุกอย่างไปที่ห้องอาหาร สมัยอยู่บ้านเณรก็ไม่นึกอะไรเดี๋ยวนี้จึงรู้ว่าเป็นหนี้บุญคุณผู้ปิดทองหลังพระพวกนี้ หุงข้าวให้เรากินไม่รู้กี่กระสอบ แถมซักเสื้อผ้าให้ด้วย ขอพระเจ้าตอบแทนร้อยเท่าพันทวี น่าจะอยู่สวรรค์กันหมดแล้วมั้ง ทุกคนในบ้านเณรทานอาหารห้องเดียวกันหมด โต๊ะอาหารเป็นโต๊ะยาวจัดให้นั่งเป็นกลุ่ม กลุ่มละ 4 คนสมัยนั้นไม่มีตู้เย็นใช้คนโทดินเผาใส่น้ำ มีจอกคนละใบไม่ใช้แก้วน้ำ กลัวเณรทำแตกมั้ง คนที่นั่งหัวโต๊ะได้รับเกียรติให้เป็นคนตักข้าว ตักกับข้าวแจกทุกคนในโต๊ะ มื้อเย็นจะพิเศษหน่อยคือสวดเสร็จจะมีอ่านภาษาละติน ทุกคนต้องเงียบและฟังคนอ่าน โดยไม่รู้ว่าแปลว่าอะไรอ่านเสร็จจึงพูดคุยกันได้ แต่โดยมากมักไม่คุยกัน จ้องอย่างเดียว แม่ครัวทำอะไรมาไม่เคยเหลือกลับไปเลย

                 มีธรรมเนียมอย่างหนึ่งใครทำช้อนหรืออะไรตกต้องยืนกิน ตอนที่เข้าบ้านเณรใหม่ ๆ ก็ไม่รู้ธรรมเนียมนี้พอได้ยินช้อนตก หันไปดูคนทำตกต้องยืนกิน เณรเล็กทำตกไม่เท่าไหร่ บางครั้งเณรตัวใหญ่ทำช้อนตกยืนขึ้นมาสูงเด่น เพื่อน ๆ ก็อดขำไม่ได้ มีครั้งหนึ่งเราเองก็พลาดทำช้อนตก เพื่อนหันมาบอกว่าไอ้มิตรมึงโดนแล้ว มึงยืนกินซะดี ๆ เราเองก็ต้องทำตามกฎเกณฑ์ ลำบากตอนกินไม่ว่าแต่อายนี้สิ บอกไม่ถูกเลย

 

เซียนจับปลา

 

             หลังห้องอาหารมีสระน้ำธรรมชาติใหญ่พอสมควร วันหนึ่งมีการปล่อยน้ำออกจากสระ คุณพ่ออธิการให้เณรลงไปจับปลา เณรลงไปหลายคนแต่ส่วนใหญ่ยืนเชียร์อยู่ขอบสระ ผมเองลงแน่นอนเพราะเป็นเด็กชาวสวนเคยจับกุ้งจับปลามาแล้วที่บ้าน ลงไปลุยเลยสวิงไม่มี เครื่องมือจับปลาอะไรไม่มีทั้งนั้นน้ำตื้นประมาณหัวเข่า ใช้มือกับเท้าอย่างเดียวกวนกันจนน้ำขุ่นคลั่ก ปลาสร้อยปลาตะเพียนลอยหัวเมาน้ำจับสบาย ตัวเปรอะเลนกันทุกคน เราเคยจับปลาเรารู้ว่าปลาช่อนจะอึดมุดดินได้นาน ๆ ลงทุนลุยเลน งมไปเรื่อย ๆ โชคดีครับได้ปลาช่อนตัวใหญ่มาก ภูมิใจในผลงานอยากอวดเพื่อน ๆ ยืนขึ้นจับปลาช่อนสองมือโชว์ฝีมือผลงานสุดยอดปรากฏว่ากางเกงหลุดครับ ทำไงดีจะนุ่งกางเกงก็ไม่ได้สองมือจับปลาช่อนอยู่ก็ต้องเอาปลาไว้ก่อนโยนขึ้นบก ไม่มีใครเห็นใจเลยครับมีแต่ยืนขำกันทุกคน คุณพ่อดำรง กับคุณพ่อประดิษฐ์เคยเอาเรื่องนี้มาแซวผมหลายหนเลย

กีฬาของพวกเณร


              ด้านหน้าบ้านมีสนามหญ้าลงไปถึงหน้าถ้ำแม่พระที่อยู่ริมแม่น้ำ สนามมี 2 ระดับ ระดับบนติดบ้านเณรใช้วิ่งเล่นหรือทำกิจกรรมอะไรก็ได้ส่วนที่ต่ำลงไป จัดให้เป็นสนามฟุตบอล และมีสนามบาสเกตบอลอยู่ติดกัน กินเนื้อที่ของสนามบอลไปหน่อยนึงด้วย เณรพวกเล็กพวกใหญ่ผลัดกันใช้สนาม ส่วนมากจะได้ใช้เล่นในวันหยุดเพราะมีเวลาเล่นยาว ๆ เป็นชั่วโมง

              สนามฟุตบอลบ้านเณรเป็นสนามปราบเซียนครับ เส้นข้าง เส้นกลาง เส้นอะไรไม่มีทั้งนั้น ออกหรือไม่ออกก็กะกันเอาเอง บางทีก็เถียงกัน สนามเป็นสนามดิน หญ้าแทบจะไม่มี แถมยังมีต้นจามจุรีใหญ่ 2 ต้นกับต้นมะขามใหญ่อีก 1 ต้น เวลามีฝักแก่หล่นลงมา เคยแอบแกะกินเปรี้ยวน่าดูเลย เสาโกลเป็นไม้สี่เหลี่ยมแข็งแรง เณรเวลาเล่นบอลก็ต้องลงทุกคน ชอบหรือไม่ชอบก็ต้องลงไปเล่น สมัยนั้นเตะบอลเท้าเปล่าไม่มีรองเท้าเหมือนสมัยนี้ แถมลูกบอลยังเป็นแบบสูบยางในมีเชือกเย็บด้วย เวลาเล่นครูเณรบอกให้แบ่งข้าง ปรากฏว่าข้างไหนมีคนเก่ง ๆ ก็จะเฮละโลไปอยู่ข้างนั้น ครูเณรต้องแบ่งใหม่ให้สูสีกัน เณรไม่ใช่ว่าจะเล่นบอลเป็นทุกคน ทีมเวิร์คไม่ต้องพูดถึง บอลมาก็เตะไปฝั่งตรงข้ามอย่างเดียวบางคนหนักเข้าไปอีกหันหน้าไปทางไหนก็เตะทางนั้นแหละแต่ก็มีเณรที่เล่นเก่ง ๆ ที่จำได้คนที่เลี้ยงบอลเก่งที่สุดคือ คุณพ่อดํารัส ลิมาลัย จะมีวิธีเลี้ยงหลบซ้ายหลบขวา คู่ต่อสู้จับทางไม่ถูก ถ้าคู่ต่อสู้เข้ามาหลายคน คุณพ่อดํารัสจะเลี้ยงบอลรอบต้นมะขามเลย อาศัยรากต้นมะขามที่โผล่เหนือดินกันคู่ต่อสู้ด้วย คุณพ่อดำรัสอยู่หลังต้นมะขามคนแย่งก็งง ไม่รู้ว่าจะออกมาซีกไหน อีกคนหนึ่งที่ถือว่าเก่งคือ คุณพ่อสุรินทร์ ชุนฟ้ง จะใช้วิธีเตะบอลไปข้างหน้าไกล ๆ อาศัยวิ่งเร็วไปเอาบอลก่อนใคร บางทีก็เตะแรงเกินไปตามบอลไม่ทันก็มี อีกคนนึงครับตำแหน่งกองหลังสายฟ้าฟาด คุณพ่อวิจิตร สัตย์สมบูรณ์ ครับ เตะหนักอย่างเดียวไม่ต้องมีทิศทาง ให้ลูกบอลห่างประตูตัวเองไว้ก่อน บางคนเลี้ยงบอลมาไม่ดูให้ดีเจอคุณพ่อวิจิตรเข้าต้องโดดหลบกันเป็นแถว

                พวกใหญ่ที่เล่นบาสเก่ง ๆ ก็มีอาจารย์ประวัติ วรรณประทีป ตัวสูงกว่าคนอื่น อีกคนหนึ่งคือ คุณพ่อชัยศักดิ์ ตัวใหญ่แข็งแรงทางโรงเรียนดรุณานุเคราะห์เคยเอาสองคนนี้เป็นนักกีฬาบาสของโรงเรียน เวลาแข่งกับโรงเรียนอื่นก็ชนะสบายเณรรุ่นต่อมาที่เล่นบาสเก่งก็มี สมชาติ ลิ้มเฉลิม เขาชอบกีฬาบาสมาก ครั้งหนึ่งคุณพ่ออธิการเอาหนังมาฉายเป็นทีมฮาร์เล็มนักบาสสหรัฐเล่นลวดลายต่าง ๆ หลอกล่อ คู่ต่อสู้หัวปั่น ปรากฏว่านายสมชาติติดใจ ว่างไม่ได้ต้องเอาลูกบาสมาหมุนที่นิ้ว หมุนรอบตัวบ้าง ทำแบบพวกนักบาสฮาร์เล็ม คุณพ่อสมกิจมาเห็นเลยโดนเอ็ดว่าไม่ใช่เวลาเล่นให้ไปทำงาน สมชาติเลยกลายเป็นนักบาสเก่งในตอนนั้น เวลามีแข่งสมชาติก็จะเป็นดาราพาทีมชนะทุกครั้งเลย

 

แสตมป์พ่อซาโบ


              คุณพ่อซาโบ เป็นชาวเช็กโก-สโลวาเกีย ท่านเป็นรองอธิการอยู่ช่วงนึง ท่านเป็นคนจัดหาของใช้ต่าง ๆ ให้กับเณรใครขาดอะไร ต้องการของใช้อะไรก็ไปเบิกที่คุณพ่อซาโบ วันหนึ่งผมเห็นจดหมายจากประเทศเช็กติดแสตมป์สวยมากเลยแวะเวียนไปหาคุณพ่อขอแสตมป์ ท่านก็ใจดีให้ผมมา 2 ดวง ดีใจมากเลยไม่เคยเห็นแสตมป์ต่างประเทศ ภูมิใจที่ขอมาได้ เก็บไว้ในโต๊ะเรียนส่วนตัว ว่างก็เอาขึ้นมาชื่นชม มีอยู่วันนึงในห้องเรียนรวม ทำการบ้านเสร็จก็เอาแสตมป์ขึ้นมาชื่นชมปรากฏว่ามีครูเณรมายืนข้างหลังผมเมื่อไหร่ไม่รู้ มายึดแสตมป์ผมไปหมดเลย ครูเณรท่านนั้นชื่อ วงศ์สวัสดิ์ แก้วเสนีย์ ผมไม่รู้จะทำยังไง ขัดขืนก็ไม่ได้ ได้แต่เศร้าทำตาปริบ ๆ แล้วก็รอว่าเมื่อไหร่ครูเณรจะเอาแสตมป์มาคืนผมสักที รอจนไม่รู้จะรอยังไงแล้ว คิดดูสิจนเดี๋ยวนี้เกือบจะ 70 ปีแล้ว ยังไม่มาคืนผมเลย

 

 

วงแตรเณร


              ตอนที่ผมอยู่บ้านเณร คุณพ่อที่คุมวงแตรเณรมี 2 ยุค ยุคแรกคุมวงโดยคุณพ่อสมกิจ ท่านเก่งดนตรีพอสมควร เห็นจากท่านสอนขับประสานเสียงและวงแตรไม่ใช่เรื่องง่าย เครื่องเป่าแต่ละอย่างไปคนละเสียง แต่ผสมกันเป็นบทเพลงที่ไพเราะ วงแตรเณรเล่นกันเฉพาะในบ้านเณรที่พอจำได้มีสำราญกับวิสุทธิ์เป่าทรัมเป็ตเก่งมากเป็นเสียงนำ คุณพ่อชัยศักดิ์กับคุณพ่อวิจิตรเป่าแซก คุณพ่อสุรินทร์กับคุณวิรัชเป่าปี่ คุณพ่อวงศ์สวัสดิ์กับอาจารย์เสนาะเป่าบอมบ์ อย่างอื่นก็จำไม่ค่อยได้ เวลามีงานภายในบ้านเณร ตอนเย็นกินข้าวเสร็จก็มีเป่าแตรในห้องอาหารนั่นแหละ ดังคับห้องก็ฟังกันได้ มีงานฉลองครั้งหนึ่ง คุณพ่อชัยศักดิ์ออกไปโชว์เป่าแซกโซโฟน ไม่รู้เพลงอะไรปู้ดป้าดไปเรื่อยจนจบเพลง พอสิ้นเสียงตบมือแล้ว คุณพ่อสมกิจท่านก็บอกว่าทีหลังน่ะใครจะโชว์เดี่ยวให้ไปหัดมาให้ดีก่อน จากวันนั้นมาไม่มีใครกล้าโชว์เดี่ยวอีกเลย ยุค 2 เป็นช่วงที่คุณพ่อสมบูรณ์บวชจากโรมใหม่ ๆ มาประจำบ้านเณร ท่านเก่งดนตรีมากทำให้วงแตรบ้านเณรเฟื่องฟูขึ้นไปอีก แต่เรื่องที่คนอาจไม่รู้คือคุณพ่อเป็นนักเปียโนที่เก่งมากเท่าที่เห็นเวลามีงานบ้านเณร ที่ห้องอาหารมีเปียโนอยู่หลังนึงคุณพ่อสมบูรณ์จะโชว์เล่นเปียโนมาร์ชอากวีลาไม่ต้องดูโน้ตเลย จำได้หมดทั้งเพลง สุดยอดที่สุดในยุคนั้น

 

ความสะดวกไปไม่ถึงจึงต้องลงแม่น้ำ

             พูดถึงเรื่องน้ำประปา ไฟฟ้า โทรศัพท์ที่เป็นสาธารณะสมัยนั้นยังไม่มีครับ แต่บ้านเณรแก้ปัญหาเรื่องไฟฟ้าได้โดยติดตั้งเครื่องปั่นไฟเพราะต้องใช้ตอนกลางคืน โทรศัพท์ยังไม่มีสมัยนั้นต้องใช้จดหมาย พวกเณรส่วนใหญ่ที่ถูกส่งไปเรียนต่อที่อินเดียหรือที่โรม เขียนจดหมายมาเล่าเรื่องให้ฟัง กว่าจะมาถึงเป็นอาทิตย์สองอาทิตย์ บางฉบับลงวันที่เมื่อเดือนที่แล้ว ก็อ่านได้ถือว่าไม่ตกข่าว ส่วนเรื่องการอาบน้ำก็ธรรมชาติล้วน ๆ บ่ายแก่ ๆ หน่อยได้เวลาอาบน้ำ กระป๋องส่วนตัวคนละใบไว้ใส่สบู่ เอาเสื้อผ้าไปเปลี่ยนริมแม่น้ำ เปลี่ยนเสื้อผ้ากันโคนต้นสนหรือพุ่มไม้ตามถนัด ท่าน้ำมีเท้ง บางคนโดดลงน้ำไม่ธรรมดา ตีลังกาลงน้ำ คนที่ว่ายน้ำไม่เป็นก็อาศัยจุ่มตัวอยู่ริมตลิ่งเป็นเวลาแห่งความสุข ได้เล่นน้ำที่สะอาดไหลเย็น สมัยนั้นไม่มีมลภาวะเลย ถ้าเป็นสมัยนี้สงสัยเณรคงเป็นตาแดงกันเป็นแถว มีเรื่องเล่าต่อมาว่าสมัยที่พระสงฆ์ต่างประเทศเข้ามาอยู่กันใหม่ ๆ พูดไทยยังไม่ชัดคุณพ่ออธิการสั่งให้ไปหาบน้ำ พวกเณรได้ยินว่าให้ไปอาบน้ำเลยสนุกกันใหญ่วันนั้นเล่นน้ำเพลินไปเลย

 

เตรียมฉลองบ้านเณร


            ภารกิจสำคัญช่วงต้นเดือนธันวาคมของทุกปีคืองานฉลองบ้านเณร คณะผู้ใหญ่ของบ้านเณรก็จะมีการวางแผนเตรียมงาน เณรอย่างพวกเรามีหน้าที่ทำตามคำสั่งอย่างเดียว สมัยนั้นการขับร้องในมิสซาใช้เพลงละตินทั้งหมด คุณพ่อสมกิจเป็นคนฝึกสอน ท่านเก่งเรื่องดนตรีพอสมควร ท่านสอนขับประสานเสียงด้วย 3 เสียงเลย เณรพวกใหญ่จะแบ่งเป็นเสียงสูงเสียงต่ำ พวกเณรเล็กจะขับเสียงกลาง แต่ละเสียงจะแยกการซ้อมให้คล่องก่อนแล้วจึงมาขับร้องพร้อมกัน เวลาที่มาร่วมร้องเพลงกัน 3 เสียง พวกเณรตัวเล็ก ๆ จะอยู่แถวหน้าก็ต้องเสี่ยงอันตรายนิดหน่อยเพราะถ้าขับร้องผิดคนอยู่แถวหน้า ๆ โดนก่อนเลย ตอนนั้นเณรศักดิ์ ผลวารินทร์ เป็นคนตีหีบเพลง หีบเพลงสมัยนั้นใช้เท้าถีบลม เมื่อยมือไม่พอ เมื่อยขาด้วยซ้อมกันเป็นเดือนครับเพราะมีหลายบทเพลง

          เณรมีชื่อเสียงมากเรื่องขับร้องประสานเสียงในสมัยนั้น อ๋อ มีอีกอย่างหนึ่งคือคนที่เสียงไม่ดี ร้องไม่ค่อยได้จะถูกคัดออกให้ไปช่วยมิสซา ก็เท่ห์ไปอีกแบบนึง อีกอย่างที่ขาดไม่ได้คือการแสดงละครตอนเย็นวันฉลอง ซึ่งต้องมีการคัดตัวแสดงและซ้อมกันอย่างหนัก แต่ละตัวละครต้องท่องบทให้คล่อง แล้วก็ไปซ้อมแสดงรวมกัน ซ่อมแล้วซ่อมอีกจนผู้กำกับพอใจ อีกอย่างที่คู่กันคือมีเพลงประกอบละคร จะมีวงดนตรีเฉพาะกิจ หัวหน้าวงคือครูเช็งกิจ รุจิรัตน์ ทั้งแต่งเนื้อร้อง ทำนองและเรียบเรียงเสียงประสานในวงทั้งหมด ผมเองชอบดูวงนี้เล่นมาก เพราะปกติจะเคยเห็นแต่วงแตร แต่วงเฉพาะกิจนี้จะไม่ใช้เครื่องเป่าครับ ครูเช็งกิจจะเล่นกีตาร์โปร่งตัวเบ้อเริ่มเลย ครูนิเวจะดีดแอคคอร์เดียน ครูไพบูลย์ จวบสมัย ตีกลองชุดตุ้ง ๆ แช่ ครูมนัส บรรเลงจิตร์ กับครูอุดม รุจิรัตน์ จะดีดแมนโดลิน ซึ่งเป็นเครื่องดนตรีที่หาดูได้ยาก ที่ชอบดูมาก ๆ ก็คือการสีไวโอลินของครูสิริ พีรพันธ์ กับคุณบุญส่ง ชอบตรงทั้งสองท่านนี้สีไวโอลินคันชักขึ้นลงพร้อมกันดูเพลินจริง ๆจนแทบไม่ได้สนใจคนร้องเพลงเลย ที่บ้านเณรจะมีเวทีละครสำเร็จรูปติดตั้งรื้อถอนได้ ก่อนวันฉลองจะมีชาวบ้านมาช่วยติดตั้ง เวทีเป็นไม้ทั้งหมดตั้งแต่เสา พื้น ฉากต่าง ๆคนที่มาช่วยติดตั้งเขาชำนาญแล้วเพราะมาช่วยทุกปี

 

          ส่วนเรื่องเครื่องขยายเสียงก็ต้องถือว่าตามสภาพจริง ๆ ในสมัยนั้นมีไมค์ห้อยอยู่กลางเวที 1 ตัวแล้วก็ห้อยอยู่กลางวงดนตรีเฉพาะกิจอีก 1 ตัวเท่านั้นครับ ก่อนฉลองบ้านเณรคุณพ่ออธิการจะให้เณรเขียนจดหมายถึงแม่พระแต่ละคนก็จะเขียนไปตามความคิดของตัวเอง เป็นความลับใส่ซองสวยงาม บางคนหาแสตมป์มาติดด้วย เอาให้สวยสุดว่างั้นเถอะ ก่อนวันฉลองคุณพ่ออธิการจะให้เณรเอาจดหมายมารวมกันเพื่อเผาต่อหน้ารูปแม่พระ คุณพ่ออธิการจะเป็นคนหยิบทีละซองให้ดูแล้วอ่านจากหน้าซองก่อนใส่เตาเผา ส่วนมากก็จะเขียนว่าส่งถึงแม่พระบ้าง กรุณาส่งถึงพระแม่มารีบ้าง มีบางซองจ่าหน้าซองว่า กรุณาส่งแม่พระ ตำบลท่าสวรรค์ อำเภอสวรรค์ จังหวัดสวรรค์ พวกเณรชอบใจก็ถามกันว่าของใครวะ เจ้าของซองก็ออกอาการมีพิรุธจนเพื่อน ๆ จับได้ บางซองวาดรูปสวยงามเป็นลายดอกไม้เจ้าของซองก็ภูมิใจ มีบางซองไม่รู้ว่ารูปอะไร ดูไม่ออกเปรอะเปื้อนไปหมด คุณพ่ออธิการยังขำไม่รู้เป็นซองของใคร ทุกซองถูกเผาเรียบร้อยถือว่าเป็นกิจกรรมสร้างความศรัทธาต่อแม่พระอย่างหนึ่งในบ้านเณร

 

ฉลองบ้านเณร


               8 ธันวาคม เป็นวันฉลองบ้านเณร ชาวบ้านจะรู้กันแบบที่ว่าแทบไม่ต้องประชาสัมพันธ์อะไร ทุกอย่างจัดที่บ้านเณรทั้งหมด พวกเณรจะตื่นเต้นเป็นพิเศษเณรจะแต่งชุดสีขาวทั้งหมด พวกเณรเล็กจะนุ่งขาสั้น พวกเณรใหญ่ใส่ขายาว ผูกเน็กไทสีฟ้าด้วยครับ ตอนที่ผมเข้าบ้านเณรปีแรกผูกเน็กไทไม่เป็น คุณพ่อสุรินทร์ ซึ่งเป็นเณรรุ่นพี่สอนผูกเน็กไทแล้วก็สั่งผมว่า “บอกทีเดียวให้จำตลอดไปนะ” ได้เวลาบรรดาชาวบ้านพ่อแม่พี่น้องจะทยอยกันมา สมัยนั้นใช้เรือเป็นส่วนใหญ่ จอดกันเต็มไปหมดหน้าเท้งริมน้ำหน้าบ้านเณร ทุกอย่างพร้อมมิสซาโดยพระคุณเจ้าคาเร็ตโตในสมัยนั้น ชาวบ้านนั่งกันเต็มวัด เณรขับประสานเสียงอยู่บนเหล่าเต้งชั้นบนตลอดมิสซาซึ่งใช้ภาษาละติน ใช้เวลาทั้งหมดน่าจะชั่วโมงครึ่งเห็นจะได้ พอจบมิสซาแล้วก็น่าเห็นใจชาวบ้านสมัยนั้น ไม่มีการเลี้ยงอาหาร ไม่มีร้านค้า ชาวบ้านก็น่ารักกลับบ้านใครบ้านมัน รอตอนเย็นกลับมาดูละครอีกรอบ

              ตอนเที่ยงพระสังฆราชจะทานอาหารพร้อมกับพวกเณรในห้องอาหาร เสร็จแล้วจะมีการขอบคุณพระสังฆราช ถือเป็นธรรมเนียมทุกปี โดยการขอบคุณจะใช้เณร 3 คน แต่งเป็นฝรั่ง เป็นจีนแล้วก็ไทยออกมาขอบคุณเป็นภาษาอังกฤษ ภาษาจีน แล้วก็ภาษาไทย คุณพ่อชัยศักดิ์เป็นคนแต่งคำพูดภาษาจีน คนฟังก็ไม่รู้คำแปล คนพูดเองก็ยังไม่รู้เลยคงจะบอกว่าขอบคุณแล้วก็ขอบคุณงั้นมั้ง

              ช่วงเย็นชาวบ้านที่สนใจติดตามการแสดงละครของเณรจะทยอยกันมาจับจองที่นั่งเต็มไปหมดในสนามหน้าเวที ได้เวลาวงดนตรีเฉพาะกิจของครูเช็งกิจจะเล่นโหมโรง ม่านเวทียังปิดอยู่ พอได้เวลาก็เปิดฉากแสดงกันไป พวกเณรที่ไม่ได้แสดงละครก็นั่งเชียร์อยู่ข้างเวที ผมเองชอบไปอยู่ใกล้ ๆ วงดนตรีเพราะชอบดูเขาเล่นเครื่องดนตรีต่าง ๆ พวกรุ่นพี่ ๆ เล่นละครกันเก่งมาก แต่ละปีจะมีเรื่องละครไม่ซ้ำกันเลยซึ่งแต่งเรื่องโดยผู้ใหญ่ของบ้านเณรสืบทอดกันมาไม่รู้กี่ปีมาแล้วก็ไม่ทราบได้

             มาในยุคที่พระคุณเจ้ารัตน์ บำรุงตระกูล ประจำที่บ้านเณร ปีนั้นท่านแต่งละคร เรื่อง “ทหารเอกพระราชา” โดยใช้โครงสร้างเรื่องจากพระคัมภีร์ตอนที่ดาวิดคนเลี้ยงแกะอาสากษัตริย์ซาอูลไปปราบยักษ์โกลิอัทเป็นหัวใจของท้องเรื่อง แล้วท่านรัตน์แต่งเรื่องประกอบหัวท้ายเข้าไป เป็นที่สนุกสนานปรากฏว่าท่านเลือกให้ผมไปแสดงละครเป็นดาวิดด้วย สงสัยท่านคงเห็นรูปร่างหน้าตาผิวดำแดงเหมือนเด็กเลี้ยงแกะจริง ๆ แถมในบทละครยังต้องร้องเพลงบ้านแสนสุขที่เขียนเนื้อเพลงโดยท่านรัตน์เอง แล้วแต่งทำนองโดยครูเช็งกิจ ครูเณรวงศ์สวัสดิ์ เป็นคนสอนให้ผมร้องเพลงบ้านแสนสุข ร้องทำนองยังไง นับจังหวะยังไง เอื้อนยังไง โดยฝึกให้ร้องจนเสียงแหบแห้งเลยครับ ในเนื้อเรื่องละคร คุณพ่อชัยศักดิ์ แสดงเป็นกษัตริย์ซาอูล คุณพ่อสุรินทร์ เป็นโยนาธาน ใช้ ตนประเสริฐ เป็นยักษ์โกลิอัทแต่งตัวกลมดิ๊ก เดินแทบไม่ไหว ถูกดาวิดยิงลูกหินใส่หน้าผาก ล้มดังโครมลุกไม่ขึ้น คนต้องช่วยดึงออกนอกเวทีไป คุณพ่อชัยศักดิ์เป็นซาอูลพุ่งหอกใส่ดาวิด ดาวิดหลบทันปรากฏว่าหอกพุ่งไปโดนครูแหนงดำ เณรอีสานที่คอยกำกับการแสดงอยู่ข้างเวทียังมีเพื่อนอีกหลายคนที่ร่วมแสดงละครในครั้งนั้น มีอีกคนนึงครับที่ปิดทองหลังพระคือคุณสำราญ รำพรรณ์ จะนั่งอยู่ในช่องอุโมงค์หน้าเวทีคอยบอกบทกันพลาด เพราะบางครั้งนักแสดงตื่นเต้นจำบทไม่ได้ ก็เขานี่แหละคอยบอกบทให้ ส่วนตัวผมเองได้แสดงละครครั้งแรกในชีวิต ได้ยืนร้องเพลงบ้านแสนสุขใต้ไมค์แขวนบนเวทีร่วมกับวงดนตรีเฉพาะกิจของครูเช็งกิจ เป็นประสบการณ์ที่ไม่เคยลืมเลยในชีวิต

 

กิจกรรมช่วงปิดเทอม


               สมัยนั้นโรงเรียนดรุณานุเคราะห์เรียน 3 เทอม จบเทอมต้น เทอม 2 จะหยุดเรียนประมาณ 10 วัน ส่วนเทอมปลายจะหยุดเรียน 1 เดือนกว่า แต่ละปีนี้จะกลับบ้านได้ 7 วัน ช่วงปิดเทอมปลายบางคนกลับบ้านเกิน 7 วันเพื่อน ๆ นึกว่าคงไม่กลับบ้านเณรแล้ว วันดีคืนดีเณรคนนั้นหวนกลับบ้านเณรหน้าตาเฉย คุณพ่ออธิการก็ไม่ว่าอะไร

               ช่วงปิดเทอมเล็กคุณพ่ออธิการจะพาไปตามวัดต่าง ๆ ครั้งหนึ่งพาไปวัดท่าหว้า นั่งเรือจากบางนกแขวกไปขึ้นรถที่ราชบุรี มีรถยนต์โดยสารมารับ หลังคาเตี้ยหัวรถยื่นยาว เณรตัวใหญ่ ๆ ขึ้นรถต้องก้ม ยืนไม่ได้ หัวชนหลังคาเป็นประสบการณ์นั่งรถยนต์โดยสารเป็นครั้งแรกครับ มีอีกครั้งหนึ่งคุณพ่ออธิการพาไปวัดโคกมดตะนอย นั่งเรือไปทางคลองแพงพวย เณรรุ่นพี่บอกว่ามีแมลงทับเยอะตัวเขียว ๆ สวยมาก เราฟังแล้วก็อยากได้ ที่วัดโคกมีต้นมะขามเทศ แมลงทับชอบอยู่ เณรหาไม้ไปเขี่ย แมลงทับบินออกมาก็ไล่จับกัน ผมได้มา 1 ตัว สวยมากตัวเขียว ปีกเขียวมันระยับ ใส่กล่องไม้ขีดไว้ แล้วเอาใบมะขามเทศใส่ให้มันกินดูแลมันจนกลับไปบ้านเณร ตกลงว่าไปวัดโคกคราวนั้นไม่ได้ความรู้อะไรเลย ได้แต่แมลงทับกลับมา

               พอถึงช่วงปิดเทอมใหญ่ซึ่งตกประมาณปลายเดือนมีนาคมหยุดยาวไปเมษายนทั้งเดือนต่อด้วยพฤษภาคมอีกครึ่งเดือน เณรจะได้กลับบ้าน 7 วันจากนั้นคุณพ่ออธิการจะพาไปพักผ่อนที่หัวหิน ก็นั่งเรือจากบางนกแขวกไปขึ้นรถไฟที่ราชบุรี เณรหลายคนตื่นเต้น เพราะนั่งรถไฟครั้งแรก เณรคนหนึ่งชื่อ กิมฮุย เขามีสมุดไดอารี่ที่มีบอกชื่อสถานีรถไฟทุกสถานี เขาจะคอยพากย์ว่าสถานีนี้ คูบัวนะ ต่อไปเป็นสถานีปากท่อนะ แล้วก็พากย์ไปจนถึงหัวหิน บ้านพักที่หัวหินเป็นเรือนไม้ 2 ชั้น ชั้นบนเป็นห้องนอนโล่งยาว เสื่อผืนหมอนใบ บ้านพักก็อยู่ใกล้กับบ้านเณรซาเลเซียนหัวหินไม่มีอะไรกั้นเดินถึงกันได้ เณรจะได้พักผ่อนที่นี่ 1 เดือนเต็ม ๆ เลย อาหารการกินก็ไม่ต้องห่วงครับมีโรงครัวอยู่ใกล้ ๆ ซิสเตอร์กับพวกแม่ครัวยกทีมกันมาทำอาหารให้เณร ตอนนั้นไม่รู้สึกอะไร เดี๋ยวนี้สิรู้สึกว่าเป็นหนี้บุญคุณพวกแม่ครัวพอสมควร

               การอาบน้ำที่นั่นเป็นประสบการณ์ใหม่ครับ มีบ่อน้ำใช้เชือกผูกกระป๋องตักน้ำขึ้นจากบ่อน้ำ น้ำในบ่อสีเหมือนชานมอ่อน ก็อาบกันได้ แถมยังใช้ซักเสื้อผ้าด้วย อยู่ที่หัวหินนี้ถือว่าเป็นเวลาพักผ่อนอิสระมากขึ้น ช่วงบ่ายจะได้ออกเที่ยว พวกเล็กกับพวกใหญ่แยกกันไป ส่วนมากก็จะให้เดินเข้าป่า หนังสติ๊กคนละอันเดินออกไปแถวทางรถไฟ มองไปเห็นภูเขาลูกหนึ่ง พวกเณรเรียกกันว่าเขาหัวล้าน คุณพ่ออธิการไม่ยอม ท่านบอกว่าให้เรียกว่าเขาสิบแสน ป่าละเมาะข้างทางรถไฟแย้ชุกชุม ไล่กวดตีไม่ทัน มันวิ่งลงรูเร็วมาก ต้องยิงด้วยหนังสติ๊กบางวันได้แย้มาตัวนึงส่งไปโรงครัวผัดเผ็ดได้ถ้วยนิดนึง คนยิงได้มีสิทธิ์กินก่อนแล้วจึงส่งให้เพื่อนซึ่งแทบไม่เหลืออะไรเลย

               ประสบการณ์อีกอย่างรุ่นพี่สอนให้ขุดตัวบึ้งที่อยู่ในรูมีใยปิดปากรู ตัวใหญ่คล้ายแมงมุม ได้มาก็เอาไปเผาไฟกิน มีต้นไม้ชนิดหนึ่งลูกสีแดง ๆ กินได้ รุ่นพี่บอกว่าลูกอิ่มดี ไม่รู้ว่าใครตั้งชื่อไว้ก็สนุกดีครับ บางวันครูเณรพาไปเดินชายหาดริมทะเล พวกเณรบอกว่าไปกินอากาศ พวกที่ได้มาทะเลครั้งแรกก็ตื่นเต้นกันไป แล้วก็เก็บเปลือกหอยสวย ๆ ไปดูเล่น วันดีคืนดีคุณพ่อธิการก็จะพาพวกเราไปให้รู้จักกับเณรซาเลเซียน ฟังมิสซาด้วยกันเลยถือโอกาสแสดงอะไรต่าง ๆ ให้พวกเราดู เช่น มีวงแตรเป่าอวดพวกเรา แล้วเขาก็มีเณรชาวอิตาเลียนโชว์ร้องเพลง มีคนหนึ่งชื่อ รุฟโฟ่ เสียงเหมือนนักร้องโอเปร่าอีกคนชื่อ สมิธ เล่นเปียโนแล้วร้องเพลงด้วยเพราะมาก จากนั้นเณร 2 ค่าย ก็รู้จักกัน วันดีคืนดีมีการนัดแข่งบอลกันก็ผลัดกันแพ้ชนะคนละหนสองหน

 

 

 

 

 

                มีอยู่ปีนึงคุณพ่ออธิการใจดีให้ไปเที่ยวต่อที่บ้านแสงอรุณ ห้วยยาง มีรถสิบล้อมารับเณรยืนกันไป 2 ชั่วโมง ทางตอนนั้นเป็นลูกรังฝุ่นตลบถึงวัดห้วยยางเป็นฝรั่งหัวแดงกันหมด ตอนนั้นคุณพ่อเกรสปีอยู่คอยดูแลพวกเรา พาเราเดินป่า มีต้นไม้ใหญ่ ๆ เยอะ อีกวันหนึ่งก็พาไปน้ำตกห้วยยาง มีข้าวผัดให้คนละห่อใบตองไว้กินตอนอยู่ที่น้ำตก น้ำตกมีหลายชั้นแต่ก็ถูกห้ามไม่ให้ขึ้นไปเพราะอันตรายเคยมีคนเจอหมีอยู่บนนั้น พวกเณรเล่นกันที่แอ่งน้ำข้างล่าง มีเณรคนหนึ่งชื่อโคม ทับปิง เดินอีท่าไหนไม่รู้ลื่นตกน้ำดังโครม ข้าวผัดแตกกระจาย ไข่ดาวจมน้ำหายไป เพื่อน ๆ เลยต้องบริจาคข้าวคนละ 2 ช้อน รอดตายไปมื้อนึง

             ทั้งหลายทั้งปวงเป็นส่วนหนึ่งของประสบการณ์ชีวิตในช่วงปิดเทอมซึ่งแต่ละปี ผู้ใหญ่ของบ้านเณรก็จะกำหนดวางแผนไว้ สมัยที่เราเป็นเณรก็ไม่รู้สึกอะไร มาตอนนี้ครับจึงรู้ว่าพวกผู้ใหญ่ของบ้านเณรต้องเหนื่อยต้องลำบากต้องทุ่มเทวางแผนให้พวกเณรได้พักผ่อนอย่างมีความสุขสนุกสบาย

 

ส่งท้ายก่อนจบ


             พระคุณเจ้าปัญญา กฤษเจริญ ท่านจะเน้นย้ำทุกครั้งที่มีการฉลองบ้านเณรว่า “พวกเราทุกคนเป็นหนี้บุญคุณบ้านเณรมากมาย” ยิ่งบรรดาศิษย์เก่าด้วยแล้วยิ่งต้องสำนึกไว้ตลอดชีวิต ก็ขอว่าเรื่องที่เขียนทั้งหมดนี้เพื่อตอบแทนบุญคุณที่ได้รับมากมายจากบ้านเณรครับ

 

ควันหลง “นิทรรศการ 350 ปี มิสซังสยาม”


           หากจะกล่าวว่าโครงการจัดสร้างบ้านพระหฤทัยเริ่มขึ้นได้อย่างไรนั้น คงจะต้องย้อนกลับไปใน ค.ศ. 2019 ซึ่งเป็นปีที่พระศาสนจักรคาทอลิกในประเทศไทยได้ทำการฉลอง 350 ปี การสถาปนามิสซังสยาม (Apostolic Vicariate of Siam) ช่วงเวลาดังกล่าว พระศาสนจักรคาทอลิกในประเทศไทยมีความสนใจในเรื่องราวของประวัติศาสตร์มากขึ้นเป็นพิเศษ และในวันที่ 19 ตุลาคม ค.ศ. 2019 ทางสังฆมณฑลราชบุรีได้จัดงาน 350 ปี มิสซังสยาม วันแพร่ธรรมสากล และวันฆราวาสไทยขึ้น ณ อาสนวิหารแม่พระบังเกิด บางนกแขวก งานวันนั้น ฝ่ายสำนักงานสังฆมณฑลได้จัดนิทรรศการเล่าขานประวัติศาสตร์ “วันวาน.. ที่คิดถึง” เพื่อให้คริสตชนรุ่นหลังได้รับรู้ รับทราบเรื่องราวประวัติศาสตร์ของพระศาสนจักรในสังฆมณฑลราชบุรีมากยิ่งขึ้น ในวันดังกล่าวพระคุณเจ้าสิริพงษ์จรัสศรี ได้ให้เกียรติมาร่วมงานและชมนิทรรศการด้วย หลังจากจบงานพระคุณเจ้าได้พูดคุยกับคุณจิรายุทธ กลิ่นสวัสดิ์ ซึ่งเป็นเจ้าหน้าที่สำนักงานสังฆมณฑลราชบุรี แผนกประวัติศาสตร์ว่าอยากจะให้ช่วยศึกษาประวัติศาสตร์ของบ้านเณรบางช้าง บางนกแขวก และทำการจัดสร้างโมเดลจำลองอาคารบ้านเณรบางช้าง-บางนกแขวกขึ้นมา

ศึกษาข้อมูล


               ทางสำนักงานสังฆมณฑลราชบุรีก็ได้ตอบรับความประสงค์ของพระคุณเจ้าสิริพงษ์ใน ค.ศ. 2019-2020 ทางเจ้าหน้าที่สำนักงานสังฆมณฑลได้เริ่มดำเนินการศึกษารวบรวมข้อมูลทางประวัติศาสตร์ของบ้านเณรบางช้างบางนกแขวก จากเอกสาร รูปภาพ และการสัมภาษณ์บรรดาศิษย์เก่าที่เคยอาศัยอยู่ในบ้านเณรหลังนี้ ซึ่งบุคคลที่ได้รับการสัมภาษณ์คือ คุณพ่อสมบูรณ์ แสงประสิทธิ์ คุณพ่อวงศ์สวัสดิ์ แก้วเสนีย์ คุณพ่อประดิษฐ์ ว่องวารีคุณพ่อดำรัส ลิมาลัย ครูนิมิตร ฤทธิปัญญา ฯลฯ นอกจากนั้น ทางทีมงานยังได้เข้าไปสำรวจสถานที่ตั้งของบ้านเณรอีกด้วย ซึ่งตอนแรกที่เข้าไปสำรวจนั้นมีความเข้าใจว่า ที่ดินส่วนที่ตั้งอาคารนั้นทางสังฆมณฑลได้ขายไปนานแล้ว จนพระคุณเจ้าสิริพงษ์บอกพวกเราว่า ที่ดินตรงนั้นยังเป็นของสังฆมณฑลอยู่ พวกเราก็ไม่แน่ใจ จึงได้ตรวจสอบกับแผนกที่ดินของสังฆมณฑล ก็พบว่าสังฆมณฑลยังเป็นเจ้าของที่ดินอยู่จริง ๆ แม้ที่ดินของบ้านเณรส่วนใหญ่จะถูกขายไปแล้วก็ตาม ทางทีมงานได้เข้าไปวัดขนาดของซากอาคารที่หลงเหลืออยู่หลายครั้งด้วยกัน แต่เนื่องจากพื้นที่บ้านเณรถูกทิ้งร้างไว้เป็นเวลานานหลายสิบปี มีต้นไม้ขึ้นปกคลุมจนเป็นป่ารกทึบ จึงทำให้ไม่สามารถเข้าไปสำรวจซากอาคารได้ถนัดนัก แต่ก็ได้ข้อมูลมาในระดับหนึ่ง หลังจากนั้นคุณสมมิตร คงมั่นประกายกิจ ก็ได้อาสาเขียนรูปอาคารหลักของบ้านเณรเป็นภาพ 2 มิติขึ้นมา

 

 

 

ขอสัมภาษณ์ "อาจารย์พิบูลย์ ยงค์กมล"


            เพื่อให้ข้อมูลที่ได้ศึกษาและรวบรวมมาแล้วมีความถูกต้องมากยิ่งขึ้นในวันที่ 3 กรกฎาคม ค.ศ. 2020 ทางทีมงานจึงขอสัมภาษณ์อาจารย์พิบูลย์ ยงค์กมล ประธานอำนวยการโรงเรียนในเครือสารสาสน์ ซึ่งเป็นศิษย์เก่าบ้านเณรแม่พระนิรมล บางนกแขวก ลำดับที่ 180 แม้ว่าท่านจะมีภาระมากมายแต่ก็ยังเสียสละเวลาให้พวกเราเข้าพบและสัมภาษณ์ ท่านได้เล่าเรื่องราวชีวิตในบ้านเณรในสมัยที่ท่านเคยอยู่ด้วยความสุขและยังได้เล่าประสบการณ์อื่น ๆ พร้อมทั้งให้คำสอน ข้อคิดหลายประการแก่พวกเราอีกทั้งยังบรรเลงเปียโนบทเพลง “สดุดีสามเณร” ที่ประพันธ์โดยพระคุณเจ้าบุญเลื่อน หมั้นทรัพย์ ให้เราฟังอีกด้วย ก็คงจะสามารถกล่าวได้ว่าท่านมีความภาคภูมิใจในสถาบันบ้านเณรมากทีเดียว ท่านได้ถามว่า “จะศึกษาข้อมูลบ้านเณรไปทำไม?” ผมก็เรียนตอบกับท่านว่า “จะนำไปทำเป็นโมเดลจำลองอาคารบ้านเณร เพื่อให้คนรุ่นหลังได้ศึกษาเรียนรู้ครับ” ท่านก็บอกว่า “จะทำไปทำไมโมเดล สร้างของจริงไปเลย” เป็นคำถามซึ่งพวกเราที่ไปสัมภาษณ์นั้นไม่สามารถให้คำตอบกับท่านได้ คงได้แต่นำแนวคิดของท่านในเรื่องนี้ ไปเรียนให้ผู้ใหญ่ของสังฆมณฑลได้รับทราบ ซึ่งในระหว่างการสนทนา ท่านพูดประโยคนี้ถึงสองครั้ง ว่าน่าจะสร้างของจริงไปเลยแม้ท่านจะไม่ได้พูดโดยตรงว่าท่านจะช่วยสนับสนุนการดำเนินการก่อสร้าง แต่ผมก็ตีความจากคำพูดของท่านว่านี่คงเป็นเหมือนการส่งสัญญาณมาถึงสังฆมณฑลว่าควรจะดำเนินการฟื้นฟูบ้านเณรหลังนี้ขึ้นมาใหม่ โดยท่านจะให้การสนับสนุน

 

 

 

 

 

 

             ที่จริง ก็เคยได้ยินมานานแล้วว่าท่านอาจารย์มีความคิดอยากจะสร้างอาคารที่มีลักษณะเหมือนกับบ้านเณรบางช้าง-บางนกแขวก เพื่อมอบให้กับทางสังฆมณฑลใช้ทำประโยชน์ แต่ก็หาบทสรุปไม่ได้ ว่าจะสร้างที่ไหน? อย่างไร? จนเวลาผ่านไปความคิดนี้จึงถูกพับเก็บไว้โดยปริยายและไม่มีการพูดถึงเรื่องนี้อีกเลย และในวันที่ไปสัมภาษณ์ท่าน เรามีเจตนาเพียงจะขอข้อมูลเพื่อจะนำไปสร้างโมเดลเท่านั้น

 

            ไม่เคยคิดไปไกลว่าจะสร้างอาคารจริงขึ้นมาแต่อย่างใด แต่หลังจากที่ท่านได้บอกกับพวกเราวันนั้น ก็ถือเป็น การจุดประกายความคิดนี้ให้หวนกลับมาอีกครั้งหนึ่ง และเมื่อนำความดังกล่าวไปเรียนให้ทางผู้ใหญ่ของสังฆมณฑลได้ทราบแล้วนั้น ทางผู้ใหญ่ก็เกิดความสนใจในเรื่องนี้อยู่เหมือนกัน และได้มอบหมายให้ไปศึกษาและวางแผนดู

 

 

"สร้าง"อาคารหลังใหม่ในที่เดิม

            ในวันที่ 30 พฤศจิกายน ค.ศ. 2020 อาจารย์พิบูลย์ยงค์กมล พร้อมด้วยเพื่อน ๆ ศิษย์เก่าบ้านเณรบางนกแขวกในสมัยของท่าน ได้เดินทางมาเยี่ยมพระสงฆ์อาวุโสที่พักอยู่ที่บ้านราชินีแห่งอัครสาวก ศูนย์สังฆมณฑลราชบุรี ในโอกาสคริสต์มาสและปีใหม่ ในวันนั้นอาจารย์ได้สอบถามถึงโครงการเกี่ยวกับบ้านเณรบางช้าง-บางนกแขวก ว่าได้ดำเนินการไปถึงไหน? อย่างไร? และสอบถามข้อมูลเกี่ยวกับที่ดินของบ้านเณร

 

จัดทำโมเดล


           เมื่อได้ข้อมูลมาพอสมควรแล้ว ตอนนี้ก็ต้องหาคนที่จะทำโมเดลบ้านเณร ประจวบเหมาะคุณพ่อวัชศิลป์ กฤษเจริญได้แนะนำเราให้รู้จักกับคุณประภาส อุดมกุล ซึ่งมีอาชีพรับทำโมเดล ซึ่งในขณะนั้นเขากำลังเรียนคำสอนเพื่อเตรียมตัวรับศีลล้างบาปที่วัดบางนกแขวกกับคุณพ่ออยู่พอดี ทางทีมงานจึงได้มอบหมายให้คุณประภาส พร้อมทีมงานของเขาจัดทำโมเดลจำลองบ้านเณร พร้อมกับจัดทำไฟล์ภาพอาคารเป็น 3 มิติขึ้นมา

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

           ผมได้เรียนตอบกับท่านไปว่า ตอนนี้กำลังศึกษาและวางแผนเพื่อจัดทำโครงการกันอยู่ โดยจะใช้เป็นสถานที่อบรมบุคลากร และเป็นการเตรียมฉลอง 100 ปีมิสซังราชบุรีด้วย ส่วนที่ดินก็ยังเป็นของมิสซังส่วนหนึ่ง พร้อมกันนั้นก็ได้นำภาพเก่า ๆ ในสมัยบ้านเณรบางนกแขวกมาให้พวกท่านได้ดู และร่วมสนทนาพูดคุยกับคุณพ่อสมบูรณ์ แสงประสิทธิ์ หลังจากสนทนากันแล้ว ท่านจึงได้ชวนให้ไปดูสถานที่ตั้งบ้านเณรบางช้าง-บางนกแขวกด้วยกัน เมื่อได้เดินทางมาถึงสถานที่ตั้งบ้านเณรอาจารย์เดินสำรวจพื้นที่โดยรอบแล้ว ท่านก็บอกว่า“ที่ตรงนี้ เพียงพอที่สร้างอาคารบ้านเณรขึ้นมาใหม่ได้ผมจะสร้างให้ เอาไหม มันจะสักเท่าไหร่กัน” วันนั้น ท่านอาจารย์แสดงเจตนาอย่างชัดเจนพร้อมที่จะสนับสนุนการสร้างอาคารบ้านเณรในสถานที่เดิม ผมได้เรียนตอบท่านด้วยความยินดีว่า “จะปรึกษาหารือกับผู้ใหญ่ของสังฆมณฑล และดำเนินการให้เร็วที่สุดครับ”

 

การอนุมัติก่อสร้างจากสังฆมณฑล


              เมื่อได้ปรึกษาหารือกับผู้ใหญ่ของสังฆมณฑลแล้ว ทางทีมงานก็รีบดำเนินการจัดทำแผนงาน และเขียนโครงการขึ้นโดยทันที โดยมีวัตถุประสงค์หลักเพื่อเป็นอนุสรณ์สถาน และแหล่งศึกษาเรียนรู้ทางประวัติศาสตร์ของบ้านเณรบางช้างบางนกแขวก พร้อมทั้งเป็นสถานที่สำหรับจัดอบรมบุคลากรของสังฆมณฑล รวมทั้งคริสตชนโดยทั่วไป จากนั้นในวันที่ 5 ธันวาคม ค.ศ. 2020 ได้นำแปลนพื้นอาคารบ้านเณรไปส่งให้อาจารย์ที่โรงเรียนสารสาสน์วิเทศบางบอน และในวันที่ 8 ธันวาคม ค.ศ. 2020 พระสังฆราชปัญญา กฤษเจริญ ได้ลงนามอนุมัติโครงการอย่างเป็นทางการ โดยมอบหมายให้คุณพ่อเสนอ ดำเนินสดวก ในฐานะประธานกรรมการบริหารสังฆมณฑลจะได้ดำเนินการต่อไป ในวันที่ 9 ธันวาคม ค.ศ. 2020 ได้มีการประชุมคณะกรรมการที่เกี่ยวข้องเพื่อดำเนินโครงการ

 

การดำเนินการก่อสร้าง


                หลังจากที่สังฆมณฑลได้อนุมัติให้ดำเนินการก่อสร้าง อาจารย์พิบูลย์ พร้อมด้วยทีมงานของท่านก็เข้าดำเนินการแทบจะทันทีก็ว่าได้ โดยท่านได้ส่งทีมงานมาปรับพื้นที่และทำการถมที่ดิน ในวันที่ 20 ธันวาคม ค.ศ. 2020 เริ่มทำการตอกเสาเข็มต้นแรก และได้มีพิธีเสกเสาเอกในวันที่ 28 มกราคม ค.ศ. 2021

 

                ท่านได้ทุ่มเทและเอาใจใส่ในการก่อสร้างโครงการนี้เป็นอย่างยิ่ง ท่านได้เรียก “ช่างน้อย” ซึ่งเป็นนายช่างที่ท่านไว้ใจให้มาสร้างอาคารหลังนี้ ซึ่งในขณะนั้นนายช่างก็กำลังควบคุมงานก่อสร้างอาคารเรียนหลังใหม่ของเครือโรงเรียนสารสาสน์ที่ จ.บุรีรัมย์ แต่ท่านก็สั่งให้มาทำที่นี่ก่อน ท่านมักจะเดินทางมาดูงานก่อสร้างด้วยตัวของท่านเองอยู่บ่อย ๆ แทบทุกขั้นตอน และด้วยประสบการณ์การก่อสร้างอาคารของโรงเรียนในเครือสารสาสน์มาอย่างยาวนาน พร้อมกับทีมงานช่างมากฝีมือ การก่อสร้างนั้นดำเนินไปอย่างรวดเร็ว ราวกับเนรมิตขึ้นมาเลยทีเดียว

 

                 นอกจากนั้นท่านยังได้ซื้อที่ดินคืนมาได้อีกจำนวน 3 งาน 72 ตารางวา และสร้างอาคารประกอบการเพิ่มขึ้นอีก 1 หลัง

 

               ด้วยความอาลัยเป็นอย่างยิ่ง ในวันที่ 5 พฤษภาคม ค.ศ. 2021 พระเจ้าได้รับอาจารย์พิบูลย์ไปพักผ่อนตลอดนิรันดรกับพระองค์ส่งผลให้การดำเนินการก่อสร้างซึ่งใกล้จะเสร็จแล้วนั้นหยุดชะงักลง แต่ต่อมาทางครอบครัวยงค์กมลและสังฆมณฑลก็ได้ดำเนินการต่อจนสำเร็จ

 

 

 

 

 

 

 

ว่าด้วยเรื่องของ "ชื่อ"


               Domus Nova In Antiqua Sede (บ้านใหม่ในที่เดิม) เป็นชื่อที่อาจารย์มอบให้กับสถานที่แห่งนี้ เราจึงนำมาใช้เป็นชื่อโครงการ และใช้เป็นคำขวัญของบ้านแห่งนี้ด้วย ส่วนชื่อของอาคารเราก็ใช้ชื่อเดิมซึ่งเคยมีตัวอักษรติดไว้ที่หน้าอาคารในสมัยของบ้านเณรบางช้าง นั่นคือคำว่า SS. Cordis Jesu (พระหฤทัยอันศักดิ์สิทธิ์ยิ่งของพระเยซูเจ้า) สำหรับชื่อของบ้าน ทีมงานก็คิดอยู่นานว่าจะตั้งชื่อบ้านว่าอะไรดี สุดท้ายได้บทสรุปว่า “บ้านพระหฤทัย” ซึ่งเป็นชื่อดั้งเดิมของบ้านเณรที่ตั้งอยู่ ณ ที่แห่งนี้ ในเวลาที่ไปเชิญพระคาร์ดินัลไมเกิ้ล มีชัย กิจบุญชู เพื่อมาเป็นประธานในพิธีเปิด-เสกบ้านพระหฤทัย พระคุณเจ้าก็บอกว่าใช้ชื่อบ้านพระหฤทัยนั้นเหมาะสมแล้ว ทางทีมงานก็สบายใจ ส่วนอาคารหลังที่ 2 ซึ่งใช้เป็นห้องอาหารนั้น เราใช้ชื่อว่า Patris Corde (ด้วยหัวใจของบิดา) ถือเป็นอนุสรณ์อย่างหนึ่งของปีนักบุญโยเซฟ

 

 

ด้วยความกตัญญูรู้คุณ


                 โครงการก่อสร้างบ้านพระหฤทัย นับว่าเป็นพระพรของพระเจ้าที่มอบให้กับพระศาสนจักรในสังฆมณฑลราชบุรีโดยแท้จริง เพราะจากผืนดินรกร้างว่างเปล่า ไร้คนเหลียวแล บัดนี้ได้ฟื้นคืนมาเป็นอนุสรณ์สถานทางประวัติศาสตร์ที่สำคัญของพระศาสนจักร และเป็นศูนย์อบรมบุคลากรของสังฆมณฑล การจัดทำโครงการนี้ก็แทบจะไม่มีใครได้คาดคิดมาก่อนก็ว่าได้ใช้เวลาในการวางแผนและดำเนินการไม่นานนัก ในการดำเนินการก่อสร้างรวมทั้งการฟื้นฟูสถานที่แห่งนี้ขึ้นมาใหม่นั้น ก็เป็นช่วงเวลาที่ประจวบเหมาะ ลงตัว และทันเวลาพอดี ซึ่งถ้าหากช้าไปกว่านี้สักหน่อย การฟื้นฟูสถานที่แห่งนี้ขึ้นมาใหม่ก็คงจะเป็นไปได้ยากเต็มที และถึงแม้จะมีอุปสรรคอยู่บ้าง แต่ก็ดำเนินการจนสำเร็จลุล่วงไปได้ด้วยดี จึงสามารถกล่าวได้ว่าเป็นพระเจ้าที่ทรงจัดสรรให้อย่างแท้จริง พวกเราจึงต้องขอบพระคุณพระเจ้าสำหรับพระพรที่พระองค์ประทานให้นี้

 

                 สังฆมณฑลราชบุรีขอขอบพระคุณอาจารย์พิบูลย์ ยงค์กมล เป็นอย่างสูง ที่ได้ทุ่มเทกำลังกาย กำลังใจ และทุนทรัพย์ในการก่อสร้างอนุสรณ์สถานบ้านเณรบางช้าง-บางนกแขวกหลังนี้ ท่านมักพูดอยู่เสมอว่า ที่ท่านสามารถประสบความสำเร็จในชีวิตได้นั้น ก็เป็นเพราะบ้านเณร ซึ่งตลอดชีวิตของท่าน ท่านก็ได้สนับสนุนกิจการของบ้านเณรมาโดยตลอด ขอขอบคุณ "ครอบครัวยงค์กมล" ที่ให้การสนับสนุนต่อมาจนการก่อสร้างอาคารแล้วเสร็จสามารถเปิดใช้งานได้ตามวัตถุประสงค์

 

             ขอขอบคุณพระคุณเจ้าสิริพงษ์ จรัสศรีผู้จุดประกายความคิดในการรื้อฟื้นประวัติศาสตร์สำคัญที่เกือบจะสูญหายไปนี้ให้กลับฟื้นคืนมาอีกครั้งหนึ่งอย่างทันท่วงที ขอบคุณสำหรับการสนับสนุนด้านข้อมูลทุนทรัพย์ในการจัดทำโมเดล รวมทั้งกำลังใจในการติดตามถามไถ่ทีมงานอยู่เสมอ

             ขอบคุณคุณพ่อเสนอ ดำเนินสดวก อุปสังฆราชและเจ้าอาวาสอาสนวิหารแม่พระบังเกิด บางนกแขวกและคุณพ่อสนธยา ไทยสนธิ ผู้ช่วยเจ้าอาวาส ที่ได้ช่วยติดต่อประสานงาน และอำนวยความสะดวกในด้านต่าง ๆ ขอบคุณทีมงานและผู้มีส่วนเกี่ยวข้องทุกท่านที่ทำให้การดำเนินการก่อสร้างบ้านพระหฤทัยนั้นสำเร็จลุล่วงไปได้ด้วยดี

 

 

               บ้านพระหฤทัย นับว่าเป็นสถานที่สำคัญทางประวัติศาสตร์ของพระศาสนจักรคาทอลิกในประเทศไทย ถือเป็นจุดกำเนิดของบ้านเณรหลายแห่ง เป็นสถานที่อบรมบุคลากรทรงคุณค่าของพระศาสนจักรในอดีตมาอย่างมากมาย และในปัจจุบันก็จะทำหน้าที่เป็นสถานที่อบรมบุคลากรและบรรดาคริสตชน จึงขอเชิญชวนศิษย์เก่าของบ้านเณร รวมทั้งบรรดาคริสตชน จะได้มีส่วนร่วมช่วยกันอนุรักษ์ บำรุงรักษา มรดกทางความเชื่อแห่งนี้ไว้ตราบนานเท่านาน ขอพระเจ้าโปรดตอบแทนในน้ำใจดีของทุกท่านที่ช่วยกันสนับสนุนการดำเนินการก่อสร้างบ้านพระหฤทัย และการดำเนินกิจการของบ้านหลังนี้ต่อไปในภายภาคหน้า

 

กระจกสี (Stained Glass) "ศิลปะบนกระจกแก้ว"แนะนำตัวสักหน่อยครับ
              สวัสดีค่ะ ชื่อศิริพร โภคทวี เป็นสัตบุรุษวัดกาลหว่าห์ เป็นคริสตังตั้งแต่กำเนิด ล้างบาปที่วัดนี้ ตัวเรามีพ่อกับแม่ที่เป็นแบบอย่างของความศรัทธา และท่านก็เป็นคนสอนให้เรามีความศรัทธาเหมือนกับท่านเช่นกัน ซึ่งสิ่งนี้เป็นสิ่งที่ดีมากที่เราได้รับมาจากพ่อแม่

 

ขอถามความรู้สึกกับโจทย์ที่ได้รับ กับการทำกระจกสีบานนี้
             การได้มาทำกระจกสีบานนี้ให้คุณพ่อ ให้สังฆมณฑลราชบุรีถือว่าดีใจมาก เพราะว่าหลายครั้ง ที่ได้ทำงานกับวัดคาทอลิกของเรา ก็คิดว่าพระเจ้าทรงส่งมาให้เราทำพอคิดอย่างนี้ เราก็รู้สึกเหมือนว่าเราได้ติดต่อกับพระเจ้า พระเจ้าทรงให้หน้าที่เรา ในการทำบ้านของพระให้สวยให้งดงาม ฉะนั้นงานของวัดทุกวัดที่ได้ไปทำ ก็จะทำด้วยความภูมิใจและถือเป็นเกียรติที่ได้รับใช้พระเจ้า

 

             เมื่อคุณพ่อโทรมาสอบถามว่า สนใจจะทำกระจกสีให้กับวัดเก่าของบ้านเณรหลังนี้ไหม เราเองก็ขอคุณพ่อเข้าไปดูหน้างาน ปรากฏว่าพอไปเห็นก็สัมผัสได้ถึงความท้าทาย เห็นรูปที่คุณพ่อให้ดู แทบจะไม่เห็นอะไรเลย ก่อนอื่นก็ต้องขอกล่าวถึงสักนิดหนึ่งว่า เรามีหลานชายซึ่งเป็นลูกของพี่ชาย ชื่อ พีระ โภคทวี เขาเป็นอาจารย์ที่เก่งมาก ในเรื่องของการวาดภาพ ถอดแบบออกมาให้เห็นรายละเอียดของภาพชัดเจนขึ้น และศึกษาพร้อมกับนำเสนอความคิดเกี่ยวกับแบบ ก็เลยรู้สึกว่า เหมือนว่าพระเจ้าทรงส่งให้เขามาเป็นผู้ช่วย เป็นเครื่องมืออีกชิ้นหนึ่งของพระองค์ที่จะช่วยให้งานนี้สมบูรณ์ขึ้นมาได้

 

          จริง ๆ แล้ว เราเองเป็นคนที่เรียนด้านออกแบบตกแต่ง ไม่ได้เป็นศิลปิน แต่หลานชายคือ อาจารย์พีระ เขามีพรสวรรค์ในเรื่องศิลปะ และตัวเขาก็เป็นศิลปินสีน้ำด้วย ซึ่งมีอยู่วันหนึ่ง เขาก็เดินมาบอกว่า “เขาจะมาช่วยทำ จะช่วยวาดรูปให้” เราก็รู้สึกดีใจที่มีหลานชายเข้ามาช่วยเสริมอีกแรงหนึ่ง

          

           ตอนทำงาน บางครั้งก็รู้สึกเครียดบ้าง เพราะว่าเราไม่ได้เรียนมา ไม่ได้มีพรสวรรค์มาทางด้านนี้โดยตรง แต่นี่คืออัศจรรย์ที่พระเจ้าทรงส่งคนมาช่วยงานเรา งานนี้และงานทุกงานที่ได้ทำมาก็สำเร็จ ซึ่งจริง ๆ งานแต่ละงานก็ยากแตกต่างกันไป แต่เราก็พยายามที่จะทำให้ได้ ให้สำเร็จ ถ้าเสียก็ทำใหม่ วนไปเรื่อย ๆ จนเกิดความชำนาญ จนถึงวันนี้เวลาผ่านไป 40 ปี ก็เก่งขึ้นจากความชำนาญ และต้องขอบอกด้วยว่าพระเจ้าก็ทรงช่วยทำ เพราะว่า “ทำไป ก็สวดไป” เราจะคิดในแง่นี้เสมอในการทำงานว่าความสามารถนี้ ถือเป็นพระพรที่เราได้รับมาจากพระองค์

 

             คุณพ่อและทีมงาน มีความสนใจและยินดีให้เราทำงานนี้แถมให้เงินเราในการจัดทำเพราะมันมีค่าใช้จ่าย ท่านก็เข้าใจซึ่งเวลาที่มีเงินเข้ามาเราก็จะรู้สึกว่า พระเจ้าทรงให้งานแล้วให้ทำบ้านของพระองค์แล้ว พระองค์ยังทรงให้เงินลูกด้วยหรือ เหมือนเป็นพระพรมากมายที่เราได้รับ ดังนั้น เมื่อเราได้รับพระพรหลายอย่าง เราก็ยิ่งรู้สึกดีใจ และภูมิใจกับงานที่ได้ทำ

 

             วันนี้ที่มาสัมภาษณ์ คุณพ่อและทีมงานก็ได้เห็นความยากของการทำงาน จะบอกว่า งานกระจกสีตามวัดคาทอลิกเก่าแก่ต่าง ๆ ในเมืองไทย หรือแม้แต่ในราชบุรีเอง ต้องบอกแบบนี้ว่า ล้วนแล้วแต่นำเข้ามาจากฝรั่งเศสมาเป็นร้อย ๆ ปี มีหลายที่ชำรุดเสียหายก็ต้องซ่อม และคนซ่อมกระจกสีเองก็หายาก แต่ยุคหลังมานี้ก็พอมีบ้างก็ช่วยกัน แบ่งงานกันไปซ่อมบ้าง และเวลาที่ซ่อมกระจกสี เราก็ได้ประโยชน์จากเทคนิคของคนโบราณ ว่าเขาทำแบบนี้ แบบนั้นก็ได้หรือ เวลาที่เราซ่อม เราก็ต้องถอดกระจกทั้งหมดออก แล้วก็ค่อย ๆ พิจารณาแต่ละชิ้น แล้วก็ได้เรียนรู้ไปด้วย ฉะนั้นตรงนี้เราก็รู้สึกว่าเป็นกำไร ดังนั้น สิ่งต่าง ๆ ที่ได้รับก็ต้องขอบคุณพระเจ้าในความรักและเป็นการเพิ่มพูนความเชื่อ ความศรัทธา จากงานที่เราทำ

              การทำงานนี้ถือว่าดีใจที่ได้รับใช้พระเจ้า และขอบคุณคุณพ่อและสังฆมณฑลราชบุรีที่ได้มอบหมายงานชิ้นนี้ให้เราทำ

 

ทำไมถึงตอบรับและลงมือทำงานชิ้นนี้
              เริ่มต้นจากที่ได้ไปพบคุณพ่อและทีมงานครั้งแรก ทางคุณพ่อและทีมงานได้เล่าให้ฟังถึงกระจกสีบานนี้เล่าถึงวัดของบ้านเณรหลังนี้ว่าเคยมีกระจกสีลักษณะนี้อยู่ แต่หายไปแล้ว ไม่มีอยู่แล้ว เราก็เห็นความพยายามของคุณพ่อที่จะรื้อฟื้นและสร้างอาคารจำลองบ้านเณรขึ้นมาใหม่ให้เหมือนเดิม และเห็นว่าสังฆมณฑลราชบุรี โดยพระคุณเจ้าสิริพงษ์ คุณพ่อและทีมงานอยากให้ของเก่า ๆ ที่เคยมีอยู่แล้วหายไป กลับคืนมา เราก็ยิ่งรู้สึกเห็นด้วยอย่างมาก

 

               อยากจะร่วมมือกับคุณพ่อ คุณพ่อให้ดูรูปกระจกสีบานเก่า เราเห็นแล้วเราก็ว่า โอ้โห มีแต่รูปขาว-ดำ ไม่มีรูปอื่นเลย ไม่มีรูปสีเลย ดูก็ไม่ค่อยชัดมองไปแล้วก็ถือว่างานนี้ยากพอควร แต่อย่างที่บอกหลานชายสามารถถอดแบบได้ เราให้เขาช่วยถอดแบบ เขาก็นั่งถอดแบบไปเรื่อย ๆ คิดไป พิจารณาไป ถอดแบบออกมา ใช้ความพยายามสูง แต่ถามว่าจะเหมือนของเก่าเลยไหม คงยากที่จะเหมือนเป๊ะ ๆ เพราะเราดูจากรูปภาพไม่ใช่ของจริง และรูปภาพที่เราเห็นก็เป็นขาวดำ แต่ถ้ารูปภาพนี้เป็นรูปสี คงจะสวยมาก ซึ่งของจริงต้องเป็นสีแน่นอน เพราะฉะนั้นอย่าคิดว่ารูปเก่าไม่สวย รูปที่ทำครั้งนี้การให้สีอาจจะเหมือนของเก่าเลยก็เป็นได้ ใครจะไปรู้ ดังนั้น ก็ถือว่าเราได้ทำการรื้อฟื้นให้ได้ของเก่าคืนกลับมา นึกถึงที่คุณพ่อเล่าว่า วัดนี้หายไปเลย ต้องขุดดิน ต้องฟื้นฟูทำความสะอาดขึ้นมาใหม่ ต่าง ๆ นานา ทำให้สิ่งนี้ยิ่งเป็นสิ่งที่ท้าทายยิ่งคุณพ่อเล่าข้อมูลให้ฟัง เรายิ่งตื่นเต้นกับสิ่งที่เราจะทำให้มันเกิดขึ้นมากยิ่งขึ้นไปอีก “จะมีสักกี่คนที่รักษาของเก่า ของเก่าที่ดีเราต้องเก็บไว้ไม่ใช่ว่าเดี๋ยวนี้ทันสมัยแล้ว ทุกอย่างดีหมด แต่ไม่เสมอไป เพราะของเก่าที่ดีมีอยู่เยอะแยะที่เราทิ้งไป ที่เราเสียไป เราต้องเก็บไว้ รักษาไว้”

ความยากง่ายของการทำกระจกสีและแนวทางการทำกระจกสีเป็นอย่างไรครับ
              มา ณ จุดนี้ ถือว่าไม่ยากแล้ว ที่เคยผ่านงานยาก ๆ มา ถือเป็นความท้าทาย จริง ๆ ก็ต้องคิดให้มากและพยายามศึกษาจากรูปภาพเก่า ๆ หรือ กระจกสี (Stained Glass) ที่คนโบราณเขาทำ ว่าทำอย่างไร ศึกษาไป ทำงานไป จริง ๆ งานก็เหมือน ๆ กัน เพราะจุดที่ยากคือการสร้างแบบหรือถอดแบบ ซึ่งหลานชายก็รับไปช่วยทำแล้ว วิธีการทำงานเป็นอย่างนี้ พอเราได้งานมาถ้ามีรูปตัวอย่างก็จะดี แต่ถ้าไม่มี ทางอาจารย์พีระก็จะออกแบบร่วมกับเจ้าของงานได้ ส่วนเรามีหน้าที่อะไร เรามีหน้าที่คัดลอก(copy) พอบอกว่าเป็นงานคัดลอก หลายคนอาจจะบอกว่าดูเป็นงานที่ไม่มีความรู้เลย อยู่ดี ๆ มาคัดลอกอย่างเดียว แต่จริง ๆ แล้ว

 

                งานคัดลอกกระจกสีนี้ คือ งานคัดลอกลายและระบายสีลงบนกระจกซึ่งงานนี้กลายเป็นงานที่ไม่ได้ง่ายอย่างที่คิดเพราะเวลาที่เราทำเสียก็ต้องทำใหม่ แต่เราก็ชินแล้ว เพราะฉะนั้นทำเสียเป็นครู ผิดเป็นครู แล้วเราก็ทำใหม่ ดังนั้นก็จะเห็นได้ว่ามีกระจกดี ๆ ที่เป็นเศษที่เราทิ้งเยอะพอสมควรเลย หลายคนก็คิดว่าเสียดาย แต่เราก็รู้สึกว่าก็ไม่เท่าไร เพราะอันนี้สอนให้เราทำได้ดีขึ้น อันนี้ก็เป็นสิ่งที่ช่วยสร้างนิสัยที่ดีให้กับเรา

 

ช่วยอธิบายขั้นตอนการทำกระจกสีคร่าว ๆ ให้พอเข้าใจสักหน่อยครับ
กระจกสีทำอย่างไร ขั้นตอนของการทำกระจกสีคือ
1. เราต้องรู้ว่าจะต้องทำรูปอะไร แม้กระทั่งรูปง่าย ๆ หรือ ยาก ๆ ไม่ต้องเป็นงานวัดก็ได้ ทำการออกแบบหรือคัดลอกแบบให้เรียบร้อย
2. ให้เราหากระจกสีที่เราเห็นว่าสวย เหมาะสมกับองค์ประกอบในแต่ละส่วนของภาพที่เราออกแบบหรือคัดลอก เมื่อเราหากระจกสีได้ตรงตามที่ต้องการแล้วก็เข้าสู่ขั้นตอนต่อไป
3. เราก็เริ่มคัดลอกแบบลงไปบนกระจกสี และทำการตัดกระจกตามขนาดที่เราแยกองค์ประกอบไว้แล้ว ด้วยที่ตัดกระจกหัวเพชร
4. เมื่อตัดกระจกได้แล้ว เราก็ต้องทำการเจียกระจกเพื่อลบคม และตกแต่งขอบให้เรียบเนียนพร้อมสำหรับประกอบลงบนแบบร่าง ประกอบเหมือนกับตัวต่อ (jigsaw-จิ๊กซอว์) วางเป็นชิ้น ๆ ทำแบบนี้จนครบทุกชิ้น
5. เมื่อเรียงเป็นระเบียบเรียบร้อยแล้วเราต้องนำกระจกเหล่านี้มาประกอบเป็นแผ่นเดียวกัน ด้วยการหุ้มด้วยทองแดงและตะกั่ว และบัดกรี (soldering) เพื่อเชื่อมทองแดงและตะกั่วแต่ละเส้นเข้าด้วยกัน จึงทำให้เห็นกระจกสีออกมาเป็นแผ่นเดียวกันได้

 

                   ดูผิวเผินถ้าทำตามขั้นตอนที่ว่ามานี้ก็คงเสร็จสิ้นกระบวนการแล้ว แต่ถ้าทำงานของวัดคาทอลิกอย่างเรา ๆ นี้ ก็จะมีรายละเอียดมากขึ้นเพิ่มเข้ามา ทั้งหน้าตา รูปแม่พระรูปพระเยซูเจ้า รูปนักบุญต่าง ๆ ก็ต้องลงสี (paint) อันนี้ก็อยู่ในอีกขั้นของการทำงานเลย คนละแบบเลย จะไปแทรกอยู่ในขั้นตอนของหลังจากตัดกระจกแล้วก็นำมาลงสีลงเงาตามแบบที่ร่างไว้ โดยจะมีสีที่ใช้อยู่ 2 ชนิดหลัก ๆ คือ สีน้ำมันกับสีน้ำ ส่วนตัวเราใช้สีน้ำ เพราะสีน้ำล้างง่ายและสีน้ำมันก็กลิ่นแรง สีน้ำก็สะดวกกว่า แต่สีน้ำเองก็วาดยาก เมื่อวาดเสร็จแล้วก็นำไปใส่เตาเผา พอเผาเสร็จก็ตรวจกันอีกทีว่าเผาแล้วเรียบร้อยไหม ถ้าไม่เรียบร้อยก็ซ่อม ซ่อมแล้วก็เผาใหม่ คือว่าง่าย ๆ เผากี่ครั้งก็ได้ จนมันสวยจนเราพอใจ ส่วนกระจกชิ้นที่เผาเสร็จแล้วตรวจแล้ว ก็นำมาประกอบเหมือนกับงานที่ไม่ได้เผา แต่สำหรับงานของวัด เราต้องลงสีและเผา ด้วยอุณหภูมิที่จะทำให้สีซึมลงไปในเนื้อกระจกนั้นต้องใช้อุณหภูมิ 1,250 องศาฟาเรนไฮต์โดยสีที่เราใช้มีผงฝุ่นของกระจก จะนำพาสีซึมลงไปในเนื้อกระจก ฉะนั้นสีจะไม่มีวันหลุดเลย โดยเฉพาะประเทศของเรายิ่งไม่มีทางหลุด เพราะว่าอุณหภูมิที่ใช้ร้อนเกินกว่าสภาพอากาศปกติอยู่แล้ว ดังนั้นถ้าทำผิดก็คือทิ้ง ล้างไม่ออก แต่ถ้าจะล้างจริง ๆ ก็ออก แต่ก็ต้องใช้น้ำกรดล้าง เราก็เคยล้างแล้วแต่ก็ยังทิ้งรอยอยู่ ดูแล้วไม่สวย ทำใหม่ดีกว่า พอได้กระจกที่ลงสีและอบตามที่ต้องการก็นำมาประกอบเหมือนปกติและสุดท้ายคือนำไปติดตั้งลงในกรอบไม้ ในวัดหรือในสถานที่ที่เราต้องการจะติดตั้ง เพียงเท่านี้ก็เสร็จสิ้นในส่วนของขั้นตอนการทำกระจกสี

บ้านเณร ถือเป็นสถานที่สำคัญในการบ่มเพาะสามเณรซึ่งเตรียมตัวจะเป็นพระสงฆ์ ดังคำในภาษาละตินที่ว่า SEMINARIUM ซึ่งแปลว่า เรือนเพาะชำ (nursery) ซึ่งตรงกับคำในภาษาอังกฤษว่า seminary หมายถึง วิทยาลัยศาสนา ซึ่งเป็นสถานที่สำหรับสอนความรู้ทางด้านเทววิทยาให้กับผู้ที่สนใจ และในขณะเดียวกันก็ยังหมายถึง บ้านเณร ซึ่งเป็นสถานที่ให้ผู้เตรียมตัวเป็นพระสงฆ์ มารับการอบรมในด้านชีวิตจิต สติปัญญา วุฒิภาวะความเป็นมนุษย์ และงานอภิบาลแพร่ธรรม เพื่อจะทำหน้าที่สงฆ์ในอนาคต

 

          สำหรับบ้านเณรแห่งแรกของพระศาสนจักรในประเทศไทย กำเนิดขึ้นในราว ค.ศ. 1666 ที่กรุงศรีอยุธยา มีชื่อว่า "บ้านเณรนักบุญยอแซฟ” ซึ่งเป็นบ้านเณรของมิสซังสยามในเวลานั้น ภายหลังเมื่อเกิดสงครามและเสียกรุง จึงทำให้บ้านเณรได้รับผลกระทบและต้องปิดไป บรรดาสามเณรต้องกระจัดกระจายย้ายไปที่ต่าง ๆ จนกระทั่งใน ค.ศ. 1771 คุณพ่อการ์โนลต์ได้เริ่่ม ตั้งบ้านเณรแห่งใหม่ที่กรุงเทพฯ เรียกว่า“บ้านเณรซางตาครู้ส” ซึ่งต่อมาท่านได้รับการแต่งตั้งเป็นพระสังฆราชใน ค.ศ. 1787

 

          พระสังฆราชอาร์โนด์ อังตวน การ์โนลต์ได้เห็นถึงความสำคัญของบ้านเณรเป็นอย่างมาก จึงได้สนับสนุนและเปิดบ้านเณรถึง 3 แห่ง ด้วยกัน คือ จันทบุรี ตะกั่วทุ่งและกรุงเทพฯ (บ้านเณรซางตาครู้ส) ภายหลังไม่นานนักพระคุณเจ้าจึงได้รวมบ้านเณรทั้ง 3 แหง่ เข้าด้วยกันและมาอยู่ที่กรุงเทพฯ

 

           ต่อมาใน ค.ศ. 1822 ได้ย้ายบ้านเณรมาตั้งในบริเวณวัดอัสสัมชัญ จึงได้เรียกบ้านเณรนี้ว่า “บ้านเณรอัสสัมชัญ” แทนชื่อเดิม

 

          ใน ค.ศ. 1869 พระสังฆราชเฟอร์ดินัง โยเซฟ ดือปองด์ ซึ่งดำรงตำแหน่งประมุขมิสซังสยาม และ คุณพ่อฌอง หลุยส์ เวย์ ซึ่งเป็นอธิการบ้านเณรอัสสัมชัญ มีดำริจะย้ายบ้านเณรด้วยเหตุผลเรื่องความเหมาะสมด้านสถานที่และความสงบสำหรับรรดาเณร จึงได้มีการจัดหาที่ตั้งบ้านเณรแห่งใหม่ และได้ข้อสรุปที่ "บางช้าง" ซึ่งเป็นที่ดินฝั่งตรงข้ามกับ วัดแม่พระบังเกิด บางนกแขวก ตามที่ คุณพ่ออัลเฟรด์ พรูดม ราบาร์แดล เจ้าอาวาสวัดในขณะนั้นได้นำเสนอมา และใน ค.ศ. 1871 คุณพ่อราบาร์แดลได้เริ่มทำการสร้างบ้านเณรหลังใหม่ มีลักษณะเป็นอาคารไม้ 2 ชั้น ซึ่งมี คุณพ่อเรอเน แปร์โรซ์ เป็นผู้ออกแบบตัวอาคาร

 

        ใน ค.ศ. 1872 สามเณรของมิสซังกรุงเทพฯ ได้ย้ายออกจากบ้านเณรที่อัสสัมชัญเพื่อเข้ามาอยู่บ้านเณรแห่งใหม่ที่ “บางช้าง” โดยบ้านเณรแห่งนี้มีชื่อว่า “บ้านเณรพระหฤทัย” พระสังฆราชดือปองด์ได้เสกบ้านเณรแห่งนี้ในวันที่ 1 พฤษภาคม ค.ศ. 1872

 

        ใน ค.ศ. 1880 พระสังฆราชฌอง หลุยส์ เวย์ ได้ทำพิธีบวชพระสงฆ์ใหม่ที่บ้านเณรแห่งนี้ ผู้รับการบวชคือ “คุณพ่อยอแซฟ พริ้ง” ซึ่งเป็นหลานของสมภาร ปาน (ผู้ก่อตั้งกลุ่มคริสตชนวัดเพลง) โดยพระสังฆราชได้เขียนถึงเหตุการณ์นี้ลงในรายงานมิสซังสยาม ค.ศ. 1880 ว่า “ข้าพเจ้ามีความยินดีเป็นอย่างมากที่ได้มีโอกาสบวชสงฆ์ใหม่ที่เป็นคนไทย เพราะทั้ง ๆ ที่ความกระตือรือร้นและความมั่นคงของผู้ที่ทำงานมาก่อนเรา ก็ยังไม่มีชาวสยามคนใดก้าวขึ้นมาถึงพระแท่นนี้ในฐานะสงฆ์”

       

        ใน ค.ศ. 1893 พระสังฆราช หลุยส์ เวย์ ได้จัดสรรพระสงฆ์มาช่วยทำงานในบ้านเณรมากขึ้น เพื่อจะได้พัฒนาคุณภาพชีวิตของสามเณรอย่างรอบด้าน พระคุณเจ้าได้แต่งตั้ง “คุณพ่อมาริอุส ฮังรี่ แบร์นาร์ต” เป็นอธิการบ้านเณร โดยมีคุณพ่อกูอินาร์ด คุณพ่อบูล คุณพ่อแปร์รอส และคุณพ่อมาตราต์ เป็นผู้ช่วยในการสอนและปกครองดูแลสามเณรแต่ละช่วงชั้น

 

         ต่อมาอาคารบ้านเณรซึ่งสร้างด้วยไม้ในสมัยของคุณพ่อราบาร์แดลเริ่มทรุดโทรมลง และคับแคบเกินไปสำหรับการอบรมสามเณร พระสังฆราชหลุยส์ เวย์ ได้มีดำริที่จะปรับปรุงบ้านเณรให้เหมาะสมกับการอบรมมากขึ้น ดังนั้นคุณพ่อแบร์นาร์ต จึงได้จัดทำแบบแปลนบ้านเณรหลังใหม่นำเสนอต่อพระสังฆราชและได้รับการอนุมัติให้ดำเนินการก่อสร้างได้ อาคารบ้านเณรหลังใหม่มีลักษณะเป็นอาคารก่ออิฐถือปูน 2 ชั้น จำนวน 2 อาคารเชื่อมต่อกัน โดยมีอาคารหลักขนานกับแม่น้ำแม่กลอง

 

 

           คุณพ่อแบร์นาร์ต ได้เริ่มก่อสร้างจนอาคารส่วนแรกของบ้านเณรหลังใหม่นี้แล้วเสร็จ และเริ่มใช้งานได้ใน ค.ศ. 1901 แล้วจึงก่อสร้างส่วนอื่นต่อตามแบบที่คุณพ่อได้วางแปลนไว้ แต่เนื่องด้วยในปีนี้คุณพ่อได้รับหน้าที่ให้ไปเป็นอาจารย์สอนที่บ้านเณรของคณะมิสซังต่างประเทศแห่งกรุงปารีส (M.E.P.) ซึ่งเป็นคณะต้นสังกัดของคุณพ่อ ดังนั้นคุณพ่อจึงต้องเดินทางกลับไปประเทศฝรั่งเศส พระสังฆราชได้แต่งตั้ง “คุณพ่อมาตราต์” ให้ทำหน้าที่อธิการบ้านเณรแทน และท่านได้ดำเนินการก่อสร้างบ้านเณรหลังนี้จนแล้วเสร็จทั้งหมด

           เดือนมิถุนายน ค.ศ. 1906 ในวันฉลองพระหฤทัยศักดิ์สิทธิ์ องค์อุปถัมภ์บ้านเณร มีการเสกวัดใหม่และอาคารทั้งหมดโดยมี คุณพ่ออาลอยส์ อัลฟองส์ ด็อนต์ เป็นประธาน พิธีมีความสง่ามากมีคริสตชนมาร่วมพิธีประมาณ 300 คนอาคารทั้ง 2 หลังมีความเป็นบ้านเณรอย่างแท้จริง กล่าวคือ มีวัดเป็นศูนย์รวมใจของคนทั้งบ้าน มีห้องนอน ห้องเรียน ห้องอาหารฯลฯ อย่างครบครัน

           ด้วยว่าการแพร่ธรรมในมิสซังกรุงเทพฯ เกิดผลดี จำนวนคริสตชนมีมากขึ้น ในเวลาต่อมาสันตะสำนักได้รับการเสนอให้แยกพื้นที่ภาคตะวันตกและภาคใต้เพื่อจัดตั้งมิสซังใหม่ โดยมอบมิสซังนี้ให้อยู่ในการดูแลของคณะซาเลเซียน

           ใน ค.ศ. 1927 มิชชันนารีคณะซาเลเซียนได้เดินทางมาถึงวัดบางนกแขวก เพื่อเตรียมเข้ามาดูแลมิสซังใหม่ แต่เนื่องจากสมาชิกของคณะซาเลเซียนที่เข้ามาส่วนใหญ่เป็นสามเณร ฉะนั้นจึงต้องมีการตั้งบ้านเณรของคณะซาเลเซียนขึ้น คณะซาเลเซียนจึงได้ใช้อาคารเรือนพยาบาลที่
คุณพ่อซัลม็องได้สร้างขึ้นเป็นบ้านเณร

          ในวันที่ 30 มิถุนายน ค.ศ. 1930 พระสันตะปาปาปีโอที่ 11 โดยทางสมณกระทรวงเผยแพร่ความเชื่อ ได้ตั้ง มิสซังราชบุรีเป็นมิสซังอิสระ (Mission Sui Iuris of Rajaburi) แยกออกจากมิสซังกรุงเทพฯ มีพื้นที่ปกครองในจังหวัดราชบุรี สมุทรสงคราม กาญจนบุรี เพชรบุรี และพื้นที่ภาคใต้ทั้งหมด และได้มอบมิสซังใหม่นี้ให้คณะซาเลเซียนดูแล โดยแต่งตั้งคุณพ่อกาเยตาโน ปาซอตตี เป็นผู้ปกครองมิสซัง ในปีนี้เองคุณพ่อปาซอตตีได้ตั้งบ้านเณรของมิสซังราชบุรีขึ้นมาต่างหาก โดยได้ซื้อบ้านของสัตบุรุษที่ตั้งอยู่ริมแม่น้ำแม่กลองบริเวณหน้าวัดเพื่อเป็นบ้านเณร และให้ชื่อว่า บ้านเณรแม่พระนิรมล (นฤมลทิน) ในปีแรกนี้มีสามเณรทั้งหมด 8 คน


           เนื่องด้วยบ้านเณรพระหฤทัย บางช้างอยู่นอกเขตปกครองของมิสซังกรุงเทพฯ พระสังฆราชแปร์รอสจึงดำริที่จะย้ายบ้านเณรกลับไปตั้งอยู่ในพื้นที่ของมิสซัง ในที่สุดจึงได้เลือกที่จะสร้างบ้านเณรใหม่ที่ศรีราชาในวันที่ 24 ธันวาคม ค.ศ. 1934 สามเณรของมิสซังกรุงเทพฯ ได้ออกจากบ้านเณรพระหฤทัย บางช้าง เพื่อไปรับการอบรมที่บ้านเณรแห่งใหม่นี้


           วันที่ 17 พฤษภาคม ค.ศ. 1935 บรรดาเณรซาเลเซียนได้ข้ามฝั่งจากวัดบางนกแขวกมาอยู่ที่บ้านเณรบางช้างแทน และเปลี่ยนชื่อเรียกเป็น “บ้านเณรบางนกแขวก” ไม่เรียกว่าบ้านเณรบางช้างอีกแล้ว สามเณรของคณะซาเลเซียนจึงเป็นเณรกลุ่มที่ 2 ที่ได้มาอาศัยและรับการฝึกฝนอบรมที่บ้านเณรแห่งนี้ เป็นระยะเวลาประมาณ 6 ปี

         

          ต่อมาใน ค.ศ. 1941 สามเณรของมิสซังราชบุรี ซึ่งอาศัยอยู่ที่ฝั่งวัดแม่พระบังเกิดก็ได้ย้ายข้ามแม่น้ำแม่กลองมาอยู่ที่บ้านเณรหลังนี้ต่อจากสามเณรคณะซาเลเซียน และเรียกบ้านเณรนี้ว่า บ้านเณรแม่พระนิรมล บางนกแขวก ในปีนี้เป็นปีที่ต้องบันทึกลงในประวัติศาสตร์ เพราะมีเหตุการณ์ที่สำคัญ ๆ อยู่หลายเหตุการณ์ที่เป็นผลมาจากข้อพิพาทอินโดจีน มีการกีดกันการปฏิบัติศาสนกิจของคาทอลิก วัดหลายแห่งถูกสั่งให้ปิด บ้านเณรทั้งที่ศรีราชาและทางภาคอีสานก็ถูกเบียดเบียนจนต้องปิดบ้านเณรไว้ชั่วคราว

         

          เมื่อพระสงฆ์ชาวฝรั่งเศสโดนควบคุมและไม่สามารถออกไปทำงานได้ คุณพ่อกาเยตาโนปาซอตตี (สังฆรักษ์มิสซังราชบุรี) จึงได้รับการแต่งตั้งและอภิเษกเป็นพระสังฆราช ที่อารามคาร์แมล กรุงเทพฯ โดยพระสังฆราชมารี โยเซฟเรอเน แปร์รอส เป็นผู้อภิเษกให้ เนื่องด้วยพระคุณเจ้าปาซอตตีเป็นอิตาเลียนมิใช่ฝรั่งเศสท่านจึงได้รับหน้าที่ให้เป็นผู้ดูแลมิสซังต่าง ๆ ในประเทศไทยในช่วงเวลาที่คับขันเช่นนี้ งานหนึ่งที่สำคัญเป็นอันดับแรก ๆ ของท่านคือ การรวบรวมบรรดาสามเณรจากบ้านเณรต่าง ๆ ที่ประสบปัญหาในสถานการณ์เช่นนี้ให้มารวมกันที่บ้านเณรบางนกแขวกเสียก่อน

 

          พระสังฆราชกาเยตาโน ปาซอตตี ได้เห็นว่าอาคารของบ้านเณรหลังนี้ใช้งานมานานประกอบกับขณะนั้นมีสามเณรที่มาจากที่ต่าง ๆทั้งสามเณรพื้นเมืองมิสซังราชบุรี มิสซังกรุงเทพฯและจากภาคอีสานมาอยู่รวมกันเป็นจำนวนมากเนื่องมาจากภัยสงคราม ท่านจึงได้ทำการบูรณะซ่อมแซมให้เหมาะสมกับการใช้งานโดยมีการ ปรับปรุงพื้นให้สูงขึ้น ทำประตู หน้าต่างใหม่ ซ่อมกำแพงอาคาร และทาสีใหม่ให้น่าอยู่ มีคุณพ่อยอบ การ์นีนี เป็นอธิการบ้านเณร

 

          สถานการณ์ยุ่งยากมากขึ้น เมืื่อประเทศไทยต้องเข้าสู่สงครามโลกครั้งที่ 2 ทำให้เณรต้องประหยัดทั้งอาหารการกินและของใช้สอย สงครามกินระยะเวลานานหลายปี ทำให้เณรต้องยากลำบาก บางค่ำคืนก็ต้องวิ่งหนี หาที่หลบภัยจากลูกระเบิดแต่สุดท้ายทุกคนก็ปลอดภัย เมื่อสิ้นสุดภัยสงครามแล้ว สามเณรจากมิสซังอื่น ๆ ก็กลับไปยังมิสซังของตน เหลือแต่สามเณรของมิสซังราชบุรีที่ยังคงรับการอบรมที่บ้านเณรแห่งนี้

 

          ใน ค.ศ. 1955 พระสังฆราชเปโตร คาเร็ตโต ดำริที่จะย้ายศูนย์มิสซังไปที่อำเภอเมืองราชบุรี ด้วยว่ามีความสะดวกในการเดินทางและการติดต่อกับวัดต่าง ๆ ใน ค.ศ. 1956 เริ่มมีการสร้างศูนย์มิสซัง เป็นอาคารคอนกรีตเสริมเหล็ก 3 ชั้น แบ่งเป็น 3 ส่วน คือ โรงเรียนดรุณาราชบุรี สำนักพระสังฆราชและสามเณราลัยแม่พระนิรมล โดยมีการวางศิลาฤกษ์ใน วันที่ 25 กุมภาพันธ์ ค.ศ. 1956 อาคารส่วนของบ้านเณรก่อสร้างเสร็จและเสกในวันที่ 9 มีนาคม ค.ศ. 1959 ในปีเดียวกันนี้ คุณพ่อซิลวีโอ โปรเวรา ซึ่งเป็นอธิการบ้านเณรในขณะนั้นได้นำบรรดาสามเณรขนย้ายข้าวของทุกอย่างจากบ้านเณรบางนกแขวกมาอยู่บ้านเณรแห่งใหม่ที่ราชบุรีจนถึงปัจจุบัน และนับตั้งแต่นั้นมาอาคารบ้านเณรบางนกแขวกก็ไร้ผู้อาศัยและถูกรื้อถอนเพื่อนำไปใช้ประโยชน์ที่อื่น เหลือไว้เพียงร่องรอยของสถานที่อันเป็นประวัติศาสตร์ของพระศาสนจักรในประเทศไทยและมิสซังราชบุรี

บรรณานุกรม
โรแบต์ โกสเต. (2562). ประวัติการเผยแพร่คริสต์ศาสนาในสยามและลาว. (พิมพ์ครั้งที่ 2). สภาประมุขบาทหลวงโรมันคาทอลิกแห่งประเทศไทย.
สมกิจ นันทวิสุทธิ์. (2522). หัวใจมิสซัง. ภิญโญการพิมพ์.
หลุยส์ เวย์, พระสังฆราช. (ม.ป.ป.) รายงานมิสซังสยาม ปี 1906. (ม.ป.พ.)
หอจดหมายเหตุอัครสังฆมณฑลกรุงเทพฯ. (ม.ป.ป.). ประวัติบ้านเณรในประเทศไทย. https://catholichaab.com/main/index.php/1/2015-10-19-09-39-42
หอจดหมายเหตุอัครสังฆมณฑลกรุงเทพฯ. (ม.ป.ป.). ประวัติพระสงฆ์คณะมิสซังต่างประเทศแห่งกรุงปารีส. https://catholichaab.com/main/index.php/2015-09-22-02-42-26/2015-09-22-07-46-19/2015-09-22-07-51-08
LITTERAE APOSTOLICAE: NOVAERIGITUR MISSIOIN DEPENDENS DE RAJABURI EX TERRITORIO A VICARIATU APOSTOLICO DE BANGKOK ET A DIOECESI MALACENSI DISTRACTO. (1931). ACTA APOSTOLICAE SEDIS No. 23
Chumsriphan, Surachai. (1990). THE GREAT ROLE OF JEAN-LOUIS VAY, AOSTOLIC VICAR OF SIAM (1875-1909), IN THE CHURCH HISTORY OF THAILAND DURING THE REFORMATION PERIOD OF KING V, THE GREAT (1868-1910). [Unpublished doctoral dissertation] Gregorian University.

 

ปีศักดิ์สิทธิ์ ค.ศ. 2025

 

ปีศักดิ์สิทธิ์เป็นโอกาสพิเศษที่จัดขึ้น ทุก ๆ 25 ปี
โดยมีเป้าหมายเพื่อเชิญชวนคริสตชน
ให้ใกล้ชิดกับพระเจ้ามากขึ้น
ผ่านการแสวงบุญ การสารภาพบาป
และการรับพระคุณการุณย์

 

 

  1. ข่าวสารประชาสัมพันธ์
  2. ข่าวกิจกรรม
  3. แกลอรี่
  4. บทความ
next
prev

สื่อวีดิทัศน์ แนะนำ

 

 

บ้านพระหฤทัย – SS. CORDIS JESU สมุทรสงคราม

     ปัจจุบันสถานที่แห่งนี้เป็น “อนุสรณ์สถานบ้านเณรพระหฤทัย บางช้าง และบ้านเณรแม่พระนิรมล บางนกแขวก”
     วันที่ 8 ธันวาคม ค.ศ. 2020 สังฆมณฑลราชบุรี ได้อนุมัติให้ดำเนินการก่อสร้างอาคารบนพื้นที่ของบ้านเณรแห่งนี้ โดยให้มีลักษณะคล้ายคลึงกับอาคารของบ้านเณรหลังเดิม เพื่อเป็นอนุสรณ์สถานและแหล่งศึกษาเรียนรู้ทางประวัติศาสตร์ของบ้านเณรบางช้าง-บางนกแขวก อีกทั้งยังมีวัตถุประสงค์เพื่อใช้เป็นศูนย์อบรมบุคลากรของสังฆมณฑลอีกด้วย

ปฏิทินกิจกรรม