DOMUS NOVA IN ANTIQUA SEDE

บ้านเณร ถือเป็นสถานที่สำคัญในการบ่มเพาะสามเณรซึ่งเตรียมตัวจะเป็นพระสงฆ์ ดังคำในภาษาละตินที่ว่า SEMINARIUM ซึ่งแปลว่า เรือนเพาะชำ (nursery) ซึ่งตรงกับคำในภาษาอังกฤษว่า seminary หมายถึง วิทยาลัยศาสนา ซึ่งเป็นสถานที่สำหรับสอนความรู้ทางด้านเทววิทยาให้กับผู้ที่สนใจ และในขณะเดียวกันก็ยังหมายถึง บ้านเณร ซึ่งเป็นสถานที่ให้ผู้เตรียมตัวเป็นพระสงฆ์ มารับการอบรมในด้านชีวิตจิต สติปัญญา วุฒิภาวะความเป็นมนุษย์ และงานอภิบาลแพร่ธรรม เพื่อจะทำหน้าที่สงฆ์ในอนาคต

 

          สำหรับบ้านเณรแห่งแรกของพระศาสนจักรในประเทศไทย กำเนิดขึ้นในราว ค.ศ. 1666 ที่กรุงศรีอยุธยา มีชื่อว่า "บ้านเณรนักบุญยอแซฟ” ซึ่งเป็นบ้านเณรของมิสซังสยามในเวลานั้น ภายหลังเมื่อเกิดสงครามและเสียกรุง จึงทำให้บ้านเณรได้รับผลกระทบและต้องปิดไป บรรดาสามเณรต้องกระจัดกระจายย้ายไปที่ต่าง ๆ จนกระทั่งใน ค.ศ. 1771 คุณพ่อการ์โนลต์ได้เริ่่ม ตั้งบ้านเณรแห่งใหม่ที่กรุงเทพฯ เรียกว่า“บ้านเณรซางตาครู้ส” ซึ่งต่อมาท่านได้รับการแต่งตั้งเป็นพระสังฆราชใน ค.ศ. 1787

 

          พระสังฆราชอาร์โนด์ อังตวน การ์โนลต์ได้เห็นถึงความสำคัญของบ้านเณรเป็นอย่างมาก จึงได้สนับสนุนและเปิดบ้านเณรถึง 3 แห่ง ด้วยกัน คือ จันทบุรี ตะกั่วทุ่งและกรุงเทพฯ (บ้านเณรซางตาครู้ส) ภายหลังไม่นานนักพระคุณเจ้าจึงได้รวมบ้านเณรทั้ง 3 แหง่ เข้าด้วยกันและมาอยู่ที่กรุงเทพฯ

 

           ต่อมาใน ค.ศ. 1822 ได้ย้ายบ้านเณรมาตั้งในบริเวณวัดอัสสัมชัญ จึงได้เรียกบ้านเณรนี้ว่า “บ้านเณรอัสสัมชัญ” แทนชื่อเดิม

 

          ใน ค.ศ. 1869 พระสังฆราชเฟอร์ดินัง โยเซฟ ดือปองด์ ซึ่งดำรงตำแหน่งประมุขมิสซังสยาม และ คุณพ่อฌอง หลุยส์ เวย์ ซึ่งเป็นอธิการบ้านเณรอัสสัมชัญ มีดำริจะย้ายบ้านเณรด้วยเหตุผลเรื่องความเหมาะสมด้านสถานที่และความสงบสำหรับรรดาเณร จึงได้มีการจัดหาที่ตั้งบ้านเณรแห่งใหม่ และได้ข้อสรุปที่ "บางช้าง" ซึ่งเป็นที่ดินฝั่งตรงข้ามกับ วัดแม่พระบังเกิด บางนกแขวก ตามที่ คุณพ่ออัลเฟรด์ พรูดม ราบาร์แดล เจ้าอาวาสวัดในขณะนั้นได้นำเสนอมา และใน ค.ศ. 1871 คุณพ่อราบาร์แดลได้เริ่มทำการสร้างบ้านเณรหลังใหม่ มีลักษณะเป็นอาคารไม้ 2 ชั้น ซึ่งมี คุณพ่อเรอเน แปร์โรซ์ เป็นผู้ออกแบบตัวอาคาร

 

        ใน ค.ศ. 1872 สามเณรของมิสซังกรุงเทพฯ ได้ย้ายออกจากบ้านเณรที่อัสสัมชัญเพื่อเข้ามาอยู่บ้านเณรแห่งใหม่ที่ “บางช้าง” โดยบ้านเณรแห่งนี้มีชื่อว่า “บ้านเณรพระหฤทัย” พระสังฆราชดือปองด์ได้เสกบ้านเณรแห่งนี้ในวันที่ 1 พฤษภาคม ค.ศ. 1872

 

        ใน ค.ศ. 1880 พระสังฆราชฌอง หลุยส์ เวย์ ได้ทำพิธีบวชพระสงฆ์ใหม่ที่บ้านเณรแห่งนี้ ผู้รับการบวชคือ “คุณพ่อยอแซฟ พริ้ง” ซึ่งเป็นหลานของสมภาร ปาน (ผู้ก่อตั้งกลุ่มคริสตชนวัดเพลง) โดยพระสังฆราชได้เขียนถึงเหตุการณ์นี้ลงในรายงานมิสซังสยาม ค.ศ. 1880 ว่า “ข้าพเจ้ามีความยินดีเป็นอย่างมากที่ได้มีโอกาสบวชสงฆ์ใหม่ที่เป็นคนไทย เพราะทั้ง ๆ ที่ความกระตือรือร้นและความมั่นคงของผู้ที่ทำงานมาก่อนเรา ก็ยังไม่มีชาวสยามคนใดก้าวขึ้นมาถึงพระแท่นนี้ในฐานะสงฆ์”

       

        ใน ค.ศ. 1893 พระสังฆราช หลุยส์ เวย์ ได้จัดสรรพระสงฆ์มาช่วยทำงานในบ้านเณรมากขึ้น เพื่อจะได้พัฒนาคุณภาพชีวิตของสามเณรอย่างรอบด้าน พระคุณเจ้าได้แต่งตั้ง “คุณพ่อมาริอุส ฮังรี่ แบร์นาร์ต” เป็นอธิการบ้านเณร โดยมีคุณพ่อกูอินาร์ด คุณพ่อบูล คุณพ่อแปร์รอส และคุณพ่อมาตราต์ เป็นผู้ช่วยในการสอนและปกครองดูแลสามเณรแต่ละช่วงชั้น

 

         ต่อมาอาคารบ้านเณรซึ่งสร้างด้วยไม้ในสมัยของคุณพ่อราบาร์แดลเริ่มทรุดโทรมลง และคับแคบเกินไปสำหรับการอบรมสามเณร พระสังฆราชหลุยส์ เวย์ ได้มีดำริที่จะปรับปรุงบ้านเณรให้เหมาะสมกับการอบรมมากขึ้น ดังนั้นคุณพ่อแบร์นาร์ต จึงได้จัดทำแบบแปลนบ้านเณรหลังใหม่นำเสนอต่อพระสังฆราชและได้รับการอนุมัติให้ดำเนินการก่อสร้างได้ อาคารบ้านเณรหลังใหม่มีลักษณะเป็นอาคารก่ออิฐถือปูน 2 ชั้น จำนวน 2 อาคารเชื่อมต่อกัน โดยมีอาคารหลักขนานกับแม่น้ำแม่กลอง

 

 

           คุณพ่อแบร์นาร์ต ได้เริ่มก่อสร้างจนอาคารส่วนแรกของบ้านเณรหลังใหม่นี้แล้วเสร็จ และเริ่มใช้งานได้ใน ค.ศ. 1901 แล้วจึงก่อสร้างส่วนอื่นต่อตามแบบที่คุณพ่อได้วางแปลนไว้ แต่เนื่องด้วยในปีนี้คุณพ่อได้รับหน้าที่ให้ไปเป็นอาจารย์สอนที่บ้านเณรของคณะมิสซังต่างประเทศแห่งกรุงปารีส (M.E.P.) ซึ่งเป็นคณะต้นสังกัดของคุณพ่อ ดังนั้นคุณพ่อจึงต้องเดินทางกลับไปประเทศฝรั่งเศส พระสังฆราชได้แต่งตั้ง “คุณพ่อมาตราต์” ให้ทำหน้าที่อธิการบ้านเณรแทน และท่านได้ดำเนินการก่อสร้างบ้านเณรหลังนี้จนแล้วเสร็จทั้งหมด

           เดือนมิถุนายน ค.ศ. 1906 ในวันฉลองพระหฤทัยศักดิ์สิทธิ์ องค์อุปถัมภ์บ้านเณร มีการเสกวัดใหม่และอาคารทั้งหมดโดยมี คุณพ่ออาลอยส์ อัลฟองส์ ด็อนต์ เป็นประธาน พิธีมีความสง่ามากมีคริสตชนมาร่วมพิธีประมาณ 300 คนอาคารทั้ง 2 หลังมีความเป็นบ้านเณรอย่างแท้จริง กล่าวคือ มีวัดเป็นศูนย์รวมใจของคนทั้งบ้าน มีห้องนอน ห้องเรียน ห้องอาหารฯลฯ อย่างครบครัน

           ด้วยว่าการแพร่ธรรมในมิสซังกรุงเทพฯ เกิดผลดี จำนวนคริสตชนมีมากขึ้น ในเวลาต่อมาสันตะสำนักได้รับการเสนอให้แยกพื้นที่ภาคตะวันตกและภาคใต้เพื่อจัดตั้งมิสซังใหม่ โดยมอบมิสซังนี้ให้อยู่ในการดูแลของคณะซาเลเซียน

           ใน ค.ศ. 1927 มิชชันนารีคณะซาเลเซียนได้เดินทางมาถึงวัดบางนกแขวก เพื่อเตรียมเข้ามาดูแลมิสซังใหม่ แต่เนื่องจากสมาชิกของคณะซาเลเซียนที่เข้ามาส่วนใหญ่เป็นสามเณร ฉะนั้นจึงต้องมีการตั้งบ้านเณรของคณะซาเลเซียนขึ้น คณะซาเลเซียนจึงได้ใช้อาคารเรือนพยาบาลที่
คุณพ่อซัลม็องได้สร้างขึ้นเป็นบ้านเณร

          ในวันที่ 30 มิถุนายน ค.ศ. 1930 พระสันตะปาปาปีโอที่ 11 โดยทางสมณกระทรวงเผยแพร่ความเชื่อ ได้ตั้ง มิสซังราชบุรีเป็นมิสซังอิสระ (Mission Sui Iuris of Rajaburi) แยกออกจากมิสซังกรุงเทพฯ มีพื้นที่ปกครองในจังหวัดราชบุรี สมุทรสงคราม กาญจนบุรี เพชรบุรี และพื้นที่ภาคใต้ทั้งหมด และได้มอบมิสซังใหม่นี้ให้คณะซาเลเซียนดูแล โดยแต่งตั้งคุณพ่อกาเยตาโน ปาซอตตี เป็นผู้ปกครองมิสซัง ในปีนี้เองคุณพ่อปาซอตตีได้ตั้งบ้านเณรของมิสซังราชบุรีขึ้นมาต่างหาก โดยได้ซื้อบ้านของสัตบุรุษที่ตั้งอยู่ริมแม่น้ำแม่กลองบริเวณหน้าวัดเพื่อเป็นบ้านเณร และให้ชื่อว่า บ้านเณรแม่พระนิรมล (นฤมลทิน) ในปีแรกนี้มีสามเณรทั้งหมด 8 คน


           เนื่องด้วยบ้านเณรพระหฤทัย บางช้างอยู่นอกเขตปกครองของมิสซังกรุงเทพฯ พระสังฆราชแปร์รอสจึงดำริที่จะย้ายบ้านเณรกลับไปตั้งอยู่ในพื้นที่ของมิสซัง ในที่สุดจึงได้เลือกที่จะสร้างบ้านเณรใหม่ที่ศรีราชาในวันที่ 24 ธันวาคม ค.ศ. 1934 สามเณรของมิสซังกรุงเทพฯ ได้ออกจากบ้านเณรพระหฤทัย บางช้าง เพื่อไปรับการอบรมที่บ้านเณรแห่งใหม่นี้


           วันที่ 17 พฤษภาคม ค.ศ. 1935 บรรดาเณรซาเลเซียนได้ข้ามฝั่งจากวัดบางนกแขวกมาอยู่ที่บ้านเณรบางช้างแทน และเปลี่ยนชื่อเรียกเป็น “บ้านเณรบางนกแขวก” ไม่เรียกว่าบ้านเณรบางช้างอีกแล้ว สามเณรของคณะซาเลเซียนจึงเป็นเณรกลุ่มที่ 2 ที่ได้มาอาศัยและรับการฝึกฝนอบรมที่บ้านเณรแห่งนี้ เป็นระยะเวลาประมาณ 6 ปี

         

          ต่อมาใน ค.ศ. 1941 สามเณรของมิสซังราชบุรี ซึ่งอาศัยอยู่ที่ฝั่งวัดแม่พระบังเกิดก็ได้ย้ายข้ามแม่น้ำแม่กลองมาอยู่ที่บ้านเณรหลังนี้ต่อจากสามเณรคณะซาเลเซียน และเรียกบ้านเณรนี้ว่า บ้านเณรแม่พระนิรมล บางนกแขวก ในปีนี้เป็นปีที่ต้องบันทึกลงในประวัติศาสตร์ เพราะมีเหตุการณ์ที่สำคัญ ๆ อยู่หลายเหตุการณ์ที่เป็นผลมาจากข้อพิพาทอินโดจีน มีการกีดกันการปฏิบัติศาสนกิจของคาทอลิก วัดหลายแห่งถูกสั่งให้ปิด บ้านเณรทั้งที่ศรีราชาและทางภาคอีสานก็ถูกเบียดเบียนจนต้องปิดบ้านเณรไว้ชั่วคราว

         

          เมื่อพระสงฆ์ชาวฝรั่งเศสโดนควบคุมและไม่สามารถออกไปทำงานได้ คุณพ่อกาเยตาโนปาซอตตี (สังฆรักษ์มิสซังราชบุรี) จึงได้รับการแต่งตั้งและอภิเษกเป็นพระสังฆราช ที่อารามคาร์แมล กรุงเทพฯ โดยพระสังฆราชมารี โยเซฟเรอเน แปร์รอส เป็นผู้อภิเษกให้ เนื่องด้วยพระคุณเจ้าปาซอตตีเป็นอิตาเลียนมิใช่ฝรั่งเศสท่านจึงได้รับหน้าที่ให้เป็นผู้ดูแลมิสซังต่าง ๆ ในประเทศไทยในช่วงเวลาที่คับขันเช่นนี้ งานหนึ่งที่สำคัญเป็นอันดับแรก ๆ ของท่านคือ การรวบรวมบรรดาสามเณรจากบ้านเณรต่าง ๆ ที่ประสบปัญหาในสถานการณ์เช่นนี้ให้มารวมกันที่บ้านเณรบางนกแขวกเสียก่อน

 

          พระสังฆราชกาเยตาโน ปาซอตตี ได้เห็นว่าอาคารของบ้านเณรหลังนี้ใช้งานมานานประกอบกับขณะนั้นมีสามเณรที่มาจากที่ต่าง ๆทั้งสามเณรพื้นเมืองมิสซังราชบุรี มิสซังกรุงเทพฯและจากภาคอีสานมาอยู่รวมกันเป็นจำนวนมากเนื่องมาจากภัยสงคราม ท่านจึงได้ทำการบูรณะซ่อมแซมให้เหมาะสมกับการใช้งานโดยมีการ ปรับปรุงพื้นให้สูงขึ้น ทำประตู หน้าต่างใหม่ ซ่อมกำแพงอาคาร และทาสีใหม่ให้น่าอยู่ มีคุณพ่อยอบ การ์นีนี เป็นอธิการบ้านเณร

 

          สถานการณ์ยุ่งยากมากขึ้น เมืื่อประเทศไทยต้องเข้าสู่สงครามโลกครั้งที่ 2 ทำให้เณรต้องประหยัดทั้งอาหารการกินและของใช้สอย สงครามกินระยะเวลานานหลายปี ทำให้เณรต้องยากลำบาก บางค่ำคืนก็ต้องวิ่งหนี หาที่หลบภัยจากลูกระเบิดแต่สุดท้ายทุกคนก็ปลอดภัย เมื่อสิ้นสุดภัยสงครามแล้ว สามเณรจากมิสซังอื่น ๆ ก็กลับไปยังมิสซังของตน เหลือแต่สามเณรของมิสซังราชบุรีที่ยังคงรับการอบรมที่บ้านเณรแห่งนี้

 

          ใน ค.ศ. 1955 พระสังฆราชเปโตร คาเร็ตโต ดำริที่จะย้ายศูนย์มิสซังไปที่อำเภอเมืองราชบุรี ด้วยว่ามีความสะดวกในการเดินทางและการติดต่อกับวัดต่าง ๆ ใน ค.ศ. 1956 เริ่มมีการสร้างศูนย์มิสซัง เป็นอาคารคอนกรีตเสริมเหล็ก 3 ชั้น แบ่งเป็น 3 ส่วน คือ โรงเรียนดรุณาราชบุรี สำนักพระสังฆราชและสามเณราลัยแม่พระนิรมล โดยมีการวางศิลาฤกษ์ใน วันที่ 25 กุมภาพันธ์ ค.ศ. 1956 อาคารส่วนของบ้านเณรก่อสร้างเสร็จและเสกในวันที่ 9 มีนาคม ค.ศ. 1959 ในปีเดียวกันนี้ คุณพ่อซิลวีโอ โปรเวรา ซึ่งเป็นอธิการบ้านเณรในขณะนั้นได้นำบรรดาสามเณรขนย้ายข้าวของทุกอย่างจากบ้านเณรบางนกแขวกมาอยู่บ้านเณรแห่งใหม่ที่ราชบุรีจนถึงปัจจุบัน และนับตั้งแต่นั้นมาอาคารบ้านเณรบางนกแขวกก็ไร้ผู้อาศัยและถูกรื้อถอนเพื่อนำไปใช้ประโยชน์ที่อื่น เหลือไว้เพียงร่องรอยของสถานที่อันเป็นประวัติศาสตร์ของพระศาสนจักรในประเทศไทยและมิสซังราชบุรี

บรรณานุกรม
โรแบต์ โกสเต. (2562). ประวัติการเผยแพร่คริสต์ศาสนาในสยามและลาว. (พิมพ์ครั้งที่ 2). สภาประมุขบาทหลวงโรมันคาทอลิกแห่งประเทศไทย.
สมกิจ นันทวิสุทธิ์. (2522). หัวใจมิสซัง. ภิญโญการพิมพ์.
หลุยส์ เวย์, พระสังฆราช. (ม.ป.ป.) รายงานมิสซังสยาม ปี 1906. (ม.ป.พ.)
หอจดหมายเหตุอัครสังฆมณฑลกรุงเทพฯ. (ม.ป.ป.). ประวัติบ้านเณรในประเทศไทย. https://catholichaab.com/main/index.php/1/2015-10-19-09-39-42
หอจดหมายเหตุอัครสังฆมณฑลกรุงเทพฯ. (ม.ป.ป.). ประวัติพระสงฆ์คณะมิสซังต่างประเทศแห่งกรุงปารีส. https://catholichaab.com/main/index.php/2015-09-22-02-42-26/2015-09-22-07-46-19/2015-09-22-07-51-08
LITTERAE APOSTOLICAE: NOVAERIGITUR MISSIOIN DEPENDENS DE RAJABURI EX TERRITORIO A VICARIATU APOSTOLICO DE BANGKOK ET A DIOECESI MALACENSI DISTRACTO. (1931). ACTA APOSTOLICAE SEDIS No. 23
Chumsriphan, Surachai. (1990). THE GREAT ROLE OF JEAN-LOUIS VAY, AOSTOLIC VICAR OF SIAM (1875-1909), IN THE CHURCH HISTORY OF THAILAND DURING THE REFORMATION PERIOD OF KING V, THE GREAT (1868-1910). [Unpublished doctoral dissertation] Gregorian University.